ถ้าจะซื้อของออนไลน์จาก 2 เจ้านี้อยู่แล้ว คลิ๊กลิงค์ หรือ โลโก้ ข้างล่างนี้เลยครับ ผมจะได้ค่าคอมฯเล็กๆน้อยๆสมทบทุนจ่ายค่าเช่า host server ขอบคุณครับ

(ไม่ต้องกังวลนะครับ ไม่ใช่ลิงค์ดูดเงินแน่ๆ)

https://raka.is/r/qlzXR https://raka.is/r/gP7GV

Crew change day ก่อนกลับฝั่ง 24 ชม. เรา(ผม)ทำอะไรกันบ้าง

Crew change day ก่อนกลับฝั่ง 24 ชม. เรา(ผม)ทำอะไรกันบ้าง – แท่นขุดเจาะฯไม่ได้เป็นโรงงานแบบที่พวกเราไปเช้าเย็นกลับได้ (ต่อให้เป็นแท่นฯบกก็ตาม)

เราจึงต้องทำงานเป็นรอบๆขึ้นกับประเภทของงาน และ กฏกติกาของบ.นั้นๆที่เป็นนายจ้างของเรา

หลักๆก็มีอยู่ 2 แบบใหญ่ๆ

  1. ตารางงานแน่นอน แป๊ะๆ เช่น 21/21 (ทำ 21 วัน หยุด 21 วัน), 21/14, 28/28, ฯลฯ ซึ่งก็แบ่งย่อยออกไปเป็น บ. น้ำมัน บ.แท่น และ บ. service
  2. ทำไปจนกว่างานที่ได้รับมอบหมายมาจะเสร็จ ซึ่งก็แบ่งย่อยออกไปเป็น พวกขาประจำ กับ ขาจร

ซึ่งได้เคยอธิบายเอาไว้อย่างละเอียดพอสมควร เพื่อนๆที่ยังไม่ทราบ สามารถย้อนกลับไปอ่านได้ตามลิงค์ข้างล่างนี้นะครับ (อยู่ตอนต้นๆเลยครับ)

กล่าวถึงผลัดการทำงานไว้ตอนต้นๆบทความ

Crew change day

ถ้าจะซื้อของใน shopee อยู่แล้ว เข้าทางนี้เลยครับ ผมจะได้ค่าคอมฯ ถือว่าช่วยผมจ่ายค่าเช่า host server ไม่ใช่คลิ๊กดูดเงินแน่นอนครับ ไม่ต้องกังวล

… ก่อนกลับฝั่ง 24 ชม. ผมทำอะไรกันบ้าง

วันนี้นึกครึ้มๆ อยากระลึกความหลังสมัยยังอยู่ในสนามว่าก่อนกลับฝั่ง ต้องทำอะไรกันบ้าง

ในกรณีผมนั้นมันเป็นความรู้สึกที่บอกไม่ถูกเหมือนกันครับ คือ ดีใจที่ได้กลับฝั่ง แต่กลับไปแล้วไปทำอะไรหว่า คนที่รักที่รออยู่ก็ไม่มี คือ ตอนนั้นโสด และ ไม่ได้อยู่ประเทศไทย

บริบทกว้างๆ …

-------------------------------------------------------

ไม่พลาด ข่าวสาร บทความ ความรู้ ประกาศตำแหน่งงานว่าง และ อื่นๆ

กรอก ชื่อ และ อีเมล์ ในแบบฟอร์มข้างล่าง จะมีอีเมล์กลับมาให้ "ยืนยัน" นะครับ การสมัครจึงจะสมบูรณ์ ... อ้อ ... อย่าลืมดูใน junk, trash, spam box นะครับ บางทีระบบมันเอาอีเมล์ตอบกลับไปไว้ที่นั่น

จะมีอีเมล์กลับมาให้ "ยืนยัน" นะครับ การสมัครจึงจะสมบูรณ์ … อ้อ … อย่าลืมดูใน junk, trash, spam box นะครับ บางทีระบบมันเอาอีเมล์ตอบกลับไปไว้ที่นั่น แล้วอย่าลืม mark as not junk or spam ด้วยนะครับ เวลาส่งเตือนคราวหน้า จะได้ไปอยู่ใน in box :)

คืองี้ครับ … เรื่องราวที่จะเล่าต่อไปนี้เป็นบริบทในปี 1989 (พ.ศ. 2532) ถ้าตอนนี้คุณยังเอ๊าะๆ อายุน้อยกว่า 32 ขวบ นั่นคือ ตอนนั้น คุณยังไม่เกิดเลย

ถ้าเป็นหนัง จังหวะนี้ก็ตัดฉั๊บเปลี่ยนเป็นสีขาวดำ หรือ ซีเปีย (sepia)

ตอนนั้นผมทำงานอยู่เมืองบอมเบย์ (Bombay) ที่มีสลัมที่ใหญ่ที่สุดในโลกนั่นแหละครับ

Crew change day
Mumbai อยู่ตรงนี้ครับ

ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น มุมไบ (Mumbai) พร้อมๆกับหลายๆเมืองในอินเดียที่เปลี่ยนชื่อ นัยว่าเพื่อประกาศเอกราชครั้งที่สอง คือ เอกราชทางวัฒนธรรมทางภาษา

เพราะ Bombay เป็นชื่อที่เจ้าอาณาณิคมตั้งให้แทนชื่อเดิม (ซึ่งก็คือ มุมไบ นั่นแหละ) เหมือนๆกับที่ พม่าเปลี่ยนชื่อ จาก Burma เป็น Myanmar และ Peking เป็น Beijing

ปี พ.ศ. นั้น ไม่มีการสื่อสารไร้สายใดๆทั้งสิ้น การสื่อสารที่คนธรรมดาๆทั่วๆไปทำได้เมื่อจากบ้านเกิดเมืองนอน คือ จดหมายอากาศ ที่เรียกว่า air mail

เราเขียนใส่กระดาษบางๆพับๆแล้วไปแปะแสตม์หรือปั๊มแสตมป์ที่ไปรษณีย์แล้วส่ง … 7 วัน ถึงผู้รับครับ … หลานๆที่แค่เน็ทไม่ดี ไลน์ตอบเพื่อนไม่ได้ทันใจ ก็อย่าหงุดหงิดไปนะครับ 555

ผมเองนั้นทำงานอยู่ บ. service หนึ่ง ก็ประเภทที่ 2 ที่กล่าวไว้ข้างต้น คือ ทำไปจนกว่างานที่ได้รับมอบหมายมาจะเสร็จ และ เป็นพวกขาประจำ

ซึ่งงานที่ได้รับมอบหมายก็มีตั้งแต่ลงไปทำ 2 วัน กลับ (Surface logging) ไปจนถึง เดือนครึ่ง (TD logging ชุดใหญ่ไฟกระพริบ เป็นจานหลัก แถม seismic + CBL เป็นของหวาน และ well testing เป็นกาแฟตบท้าย)

เครื่องถ่ายเอกสาร แฟกซ์ และ โค้ก เป็นอะไรที่ พรีเมี่ยม ไม่ทุกคนที่มีโอกาสเข้าถึงได้ ทั้งบนแท่นเจาะฯ และ บนฝั่ง โดยเฉพาะ โค้ก เพราะตอนนั้น พี่บังจี๋จ๋ากับพี่หมี(ขาว) ไม่เอา ตี๋ใหญ่ และ พี่นก(อินทรี)

… นั่นแปลว่า กระเหรี่ยง บ. service อย่างผมเข้าข่ายประชากรชั้นสามอย่างไม่ต้องถามหานิยามให้เมื่อยตุ้ม

หาบ้านให้น้องหน่อยครับ :)

ขาวจั๊วะ กอดได้ อิงได้ วางประดับได้

ปาหัวคนข้างๆก็ได้ (เวลาใช้ให้ไปล้างจานแล้วไม่ยอมไป)

https://raka.is/r/XBBPp

เข้าเรื่องๆ …

มีหลายเรื่องที่ผมต้องทำก่อน crew change ครับ

ค่อยๆย้อนเวลาไปด้วยกันนะ หลายๆเรื่องพวกคุณอาจจะไม่เข้าใจ ว่าอะไรมันจะขนาดนั้น แต่อย่างลืมว่า ผมกำลังเล่าประสบการณ์จริงๆของผมเองในบริบทอนาถานิดๆอย่างที่เกริ่นมาแล้วข้างต้น

จองไฟล์ท ! …

เชื่อไหมครับว่าคน บ. service ต้องจองไฟล์ท ฮ.

เพื่อไม่ให้เสียระบบวรรณะของพี่บัง บนแท่นเจาะฯเราก็เอาระบบนี้มาใช้ครับ

ยอดปิรามิด คือ คนของบ.น้ำมันแห่งชาติ ที่ผูกขาดโดย ONGC (Oil and Natural Gas Commission of India ตอนนี้เปลี่ยนชื่อเป็น Oil and Natural Gas Corporation Limited)

ถ้าเปรียบเป็นตั๋วเครื่องบินพาณิชย์ ยอดปิระมิดนี้จะได้ตั๋วแบบที่เรียกว่า full fair first class

นั่นคือ จะกลับเมื่อไร จะเปลี่ยนใจ เลื่อน หรือ ยกเลิก ตอนไหน ได้หมดถึง(คนทั้งแท่นฯ)จะไม่สดชื่น เพราะทำให้หลายคนอาจจะเลื่อนวันกลับแบบวินาทีสุดท้าย

ถัดจากยอดปิรามิดลงมาก็จะเป็นคนของ บ.แท่น ที่มีตารางทำงานแน่นอน (ผู้รับเหมาหลัก คนเยอะที่สุด ราวๆ 85 – 90% ของคนบนแท่น เป็นลูกจ้าง บ.แท่น) อาจจะเรียกว่าเป็นตั๋วที่อยู่ระหว่าง discounted fair first class กับ discounted fair economy ก็ได้ครับ

คุณอาจจะงงๆว่า เอ๊ะ ทำไมช่วงตั๋วมันกว้างจัง

ก็เพราะ คนบ.แท่นฯมีคนเยอะมาก แต่ล่ะคนก็มีลำดับชั้นวรรณะย่อยลงไป

มีตั้งแต่ expat OIM (Offshore Installation manager – ตัวท๊อป) ไปจน Local room boy (พนักงานคนท้องถิ่นที่ทำงานซักรีด ทำความสะอาดที่พัก คือ ท้ายสุดในห่วงโซ่อาหาร ของ บ.แท่นฯ ว่างั้น)

มาถึงตรงนี้ คุณก็จะสงสัยล่ะว่า แล้วไอ้กระเหรี่ยงวิศวกรสังกัด บ. service อย่างผม ได้ตั๋วอะไรในการจองไฟล์ทกลับฝั่ง

ผมเทียบตั๋วไม่ถูกเลยครับ 555

เรียกว่า ตั๋วแลกไมล์ ได้ไหมครับ คือ แล้วแต่จะกรุณา หรือ ไม่ก็ jump seat (คนนอกวงการบินอาจจะไม่เข้าใจ มันคือ ที่นั่งที่นั่งของลูกเรือ ที่มีลักษณะเป็นเก้าอี้พับเก็บได้ ส่วนมากอยู่ติดประตูทางออก และ หันหน้าเข้าหาผู้โดยสาร)

อีกทีก็ตั๋วฟรี(หรือลดราคา)สวัสดิการพนักงานสายการบินที่จะใช้ได้ต้องเครื่องว่างผู้โดยสารไม่เต็มไฟล์ทเท่านั้น ถึงจะได้บินฟรี หรือ เกือบฟรี

พูดง่ายๆสุดคือ พวกเราชาว service company (ย้ำว่า ที่นั่น และ สมัยนั้น) เรื่องจองไฟล์ท ฮ. กลับฝั่งเนี้ย เราอยู่ท้ายสุดของห่วงโซ่อาหาร ของคนบนแท่นฯเลยครับ

แน่นอนว่า เหมือนในทุกๆระบบที่อุปสงค์มากกว่าอุปทาน ลูกเล่น หรือ กลไกเล็กๆน้อยๆ อย่างสติ๊กเกอร์สวยๆติดหมวก hard hat บุหรี่นอก สัก 2 – 3 มวน หรือ shopping list (จะพูดถึงในหัวข้อต่อไป) ก็ทำให้พวกเราพอได้ตะกายเขยิบรายชื่อใน flight booking (เราเรียก manifest)

ตอนนี้คุณกำลังคิดถึงอะไรครับ คุก หรือ ค่ายกักกันนาซี ในหนังสงครามใช่ไหมครับ

อืม … ไม่ใช่ขนาดนั่น แต่ในแง่ของการจองไฟล์ท ฮ.น่ะ ใช่เลย 🙁

จดหมาย(ไม่)ผิดซอง แต่อาจจะผิดเวลา

อย่างที่เกริ่นครับ จม.จากทางบ้าน เป็นอะไรที่พวกเราเฝ้ารอ เป็นการสื่อสารเดียวที่พวกเราสามารถเข้าถึงได้

ระบบการรับส่ง จม. ของบ.ที่เป็นนายจ้างผมตอนนั้น (และคิดว่าหลายๆบ.ก็คงไม่ต่างกัน) คือ ทุกเย็น จะมีพนักงาน บ. (เราเรียก dispatcher)ไปที่ห้องวิทยุรวม (อย่าลืม ไม่มีอีเมล์ แฟกซ์ ราคาแพง บ. service จ่ายไม่ไหว และ ห้องวิทยุก็ไม่มีบริการ)

dispatcher จะคอยดู flight booking ของวันรุ่งขึ้นบนกระดาษประชาสัมพันธ์ ที่จะเอามาแปะราวๆ หกโมงเย็น

ถ้ามีชื่อ พนักงานบ.กลับฝั่งวันรุ่งขึ้น ก็จะไม่เอาจม.ใส่ถุงเมล์ เพราะว่า จะสวนกันกับพนักงานที่จะขึ้น ฮ.ลำเดียวกับถุงเมล์กลับฝั่ง

ถ้าทุกอย่างเป็นไปอย่างที่ควรจะเป็น มันก็ไม่ใช่ปัญหา

แต่อย่างที่เล่าไปเรื่องที่พวกเรามักอยู่ล่างสุดของห่วงโซ่การจองไฟล์ท เราจึงมักจะจะโดน drop คือ เสียที่นั่ง (เอาที่ของเราไปให้ผู้ที่อยู่เหนือขึ้นไปของปิระมิด) หรือ กลับกัน ยอดปิระมิดเปลี่ยนใจวินาทีสุดท้าย พวกเราเก็บของแทบไม่ทันก็มี

ถ้าเสียที่นั่ง (drop) หลัง 6 โมงเย็น … เราก็ไม่ได้จม. เพราะ dispatcher เขาไม่มีเวลามาดู final manifest ทุก แท่น ทุก ฮ. ก่อนเครื่องลง real time หรอกครับ นอกชายฝั่ง Bombay high เป็น แหล่งปิโตรเลียมที่การจราจรคับคั่งน้องๆทะเลเหนือเลยครับ

ถ้าได้ที่นั่งวินาทีสุดท้าย นี่ก็ทุกขลาภไปอีกแบบ ยังไม่ได้สั่งเสียอะไร (handover และ อื่นๆ ที่จะกล่าวต่อไป) และ ก็จะไม่ได้จม.อีก เพราะจะสวนกัน เวลา ฮ.ลงที่แท่นฯ ทุกอย่างเกิดขึ้นเป็นระบบและเร็วมาก คนงานของแท่นฯที่รับผิดชอบด้านต่างๆทำงานแบบออโต้ และ เร็วมาก

ถุงเมล์จะถูกโยน (โยนจริงๆครับ) โครมลงบนฐานจอดฮ. แว็บเดียวก็หายไป เพราะมีคนลากเข้าไปห้องวิทยุชั่วพริบตา คนลงปุ๊บ คนขึ้นปั๊บ ไม่มีใครมาขอเปิดถุงเมล์ดูว่ามีจม.ตัวเองหรือเปล่าหรอกครับ

บางครั้งผมได้จม.ล้าช้าเพราะอะไรทำนองนี้เป็นเดือนก็มี จากปกติ 7 วัน ก็โน้น 15 – 21 วัน อ่านปุ๊บ เขียนตอบกลับทันที อย่างเร็ว 7 + 7 ก็ 14 วัน (จม.ไปกลับ) ก็กลายเป็นเดือนเอาง่ายๆ

หลานๆที่เกิดมาพร้อมกับการสื่อสารไร้สาย ก็อย่าเพิ่งหงุดหงิดใหญ่โตอะไรน้าาา ถ้าเน็ทจะห่วย จะกากบ้าง ไรบ้าง

เรื่องจม.นี่จะว่าไปก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไร แต่ก็ทำให้หลายชีวิตที่เกือบจะเป็นคู่ ไม่เป็นคู่ หรือ ที่เป็นคู่อยู่แล้วกลายเป็นไม่มีคู่ 🙁

รายงานจิปาถะ

แน่นอนครับว่าเรามาทำงาน ไปได้ออกนอกชายฝั่งมาตากอากาศชิลๆ ก่อนกลับ เราก็ต้องทำรายงานต่างๆ

Handover note – คือ เขียนสรุปงานที่ทำไปแล้ว และ งานที่ต้องทำต่อไป ให้กับคนที่จะลงมาเปลี่ยนเรา

คุณภาพของ note ก็ใจเขาใจเราครับ เวลาเราลงไปแท่นฯแล้วเราอยากเห็น note แบบไหน กากๆ สั่วๆ หรือ ละเอียด ถี่ถ้วน พร้อมภาพสเก็ตซ์ (อย่าลืม สมัยนั้นไม่มีกล้องดิจิตอล) ครบครัน

อย่าลืมว่า เมื่อเราสวนกับคนที่มาเปลี่ยนเราที่หน้าห้องวิทยุ เราไม่มีเวลาอธิบายอะไร เสียง ฮ.ดังมาก อย่างเก่งก็ ตบหัว ตบบ่า สวัสดี โชคดีนะโว้ย (กู)ไปล่ะ อะไรทำนองนั้น

note ที่เขียนไว้บนโต๊ะทำงาน เป็นการสื่อสารทางเดียวที่มี โทรฯถาม ไลน์ถาม อีเมล์ ถามก็ไม่ได้

ใจเขาใจเรา เขียนให้ดีๆ อย่าให้ใครมาด่าไล่หลัง หรือ เจอกฏแห่งกรรมเข้าให้สักวัน 555 🙂

Time sheet – เราจะมีช่างเทคนิคสนาม (เราเรียก operator) ที่ทำงานด้วยกันอยู่ด้วยจำนวนหนึ่ง ( 2 – 4 คน แล้ว แต่ความเยอะของงาน)

ในระบบของบ.ตอนนั้น เวลาปกติของการทำงานคือ 0800 – 1200 พัก 1 ชม. ต่อ 1300 – 1700 จ. – ศ. อะไรที่เกินกว่านั้น จะได้ OT เป็น ชม.ๆไป จะชม.ล่ะเท่าไรก็ตามขั้นเงินเดือนฐานของใครของมัน

วิศวกรก็ต้องเซ็นต์ OT ว่าได้ทำงานกันจริงๆ ลองนึกดูซิครับ พวกเราทำงานกันทั้งวันทั้งคืน OT บานรายได้หลักของ ช่างเทคนิคสนาม operator ก็มาจาก OT นี่แหละครับ

ส่วนในอ่าวไทยฯตอนนี้ เท่าที่ผมทราบ มีทั้งระบบเหมาจ่ายรวมไปกับเงินเดือนแล้ว หรือ แบบ OT ก็ว่ากันไป บ.ใคร บ.มัน

รายงานซ่อมโน้นนี่ และ อะไหล่ (maintenance and spare part request) – เข้าใจว่าสมัยนี้ real time และ online

แต่สมัยผมยังต้องกรอกลงฟอร์มที่มีสำเนาบางๆสีๆ 3 – 5 สี (ต้องใช้กระดาษคาร์บอน ถ้าไม่ใช่แบบสำเนาในตัว) เวลาเขียนต้องกดหนักๆ บางที ถ้าเยอะๆนี่เมื่อยมือเลย

แผ่นหนึ่งเอาใส่ไฟล์เก็บใส่แฟ้มไว้บนแท่นฯ ที่เหลือก็ติดมือเอาไปส่งที่บ.บนฝั่ง แจกจ่ายไปตามแผนกต่างๆ แล้วก็ต้องตามไปอธิบายใช้ช่าง หรือ สโตร์ เสริมด้วยในกรณีที่มันซับซ้อน

Consumable supplies request – นี่ก็อารมณ์ซื้อกับข้าวเข้าตู้เย็น

เครื่องเขียน จารบี O-ring น้ำมันหล่อลื่น WD-40 (น้ำมันหล่อลื่นอเนกประสงค์) กระดาษ หมึกพิมพ์ ฟิล์ม น้ำยาล้างฟิล์ม (อย่า งง ครับ logging engineer รุ่นผม มีห้องมืด ต้องล้างฟิล์ม และ พิมพ์แอมโมเนียเอง) และ อื่นๆอีกมากมาย

ถ้าผมมีหัวหน้าช่างเทคนิค (crew chief) ที่ไว้ใจได้ ผมก็มักจะให้ทำให้ แล้วผมดูอีกรอบก่อนเซ็นต์ชื่อกำกับ

อาจจะมองว่าเรื่องเล็กๆในสมัยนี้ เพราะขาดเหลืออะไรก็ออนไลน์สั่งเอาไรทีหลังเอาได้

แต่สมัยผม มีเรือมาเดือนล่ะ 1 ลำ กับ ฮ. สัปดาห์ล่ะ 1 ลำ การลืมสั่ง ลืมอะไรไปนี่หมายถึง งานพัง หรือ ปัญหาล้านแปดที่จะตามมาได้เลย

ในยุคผมอยู่ในสนาม ความรอบคอบ และ ถี่ถ้วน สำคัญกว่าสมัยนี้ ครับ

บางครั้งผมก็อดคิดไม่ได้ว่า ความสะดวกสบาย การสื่อสารที่รวดเร็ว ก็แลกมาด้วยคุณสมบัติหลายๆอย่างของการเป็นมืออาชีพ เช่น ความรอบคอบ การวางแผน และ ความอดทนรอคอย …

Shopping list

ในการทำงานของเราบนแท่นขุดเจาะฯ เราต้องการความช่วยเหลือมากมายจากพนักงานของบ.แท่น ไล่ไปตั้งแต่ พนักงานวิทยุ roustabout roughneck derrick man driller crane operator (หรือ folk lift) ฯลฯ ไปยัน ช่างทาสี (painter) หรือ แม้แต่ room boy

น้ำใจเล็กๆ น้อยๆ เป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะอินเดียสมัยนั้นที่เป็นประเทศเกือบปิด สินค้านำเข้าทุกชนิด คนท้องถิ่น ไม่มีช่องทางเข้าถึงได้ในตลาดปกติ

ถ้าการกลับฝั่งครั้งไหน ผมได้กลับประเทศไทยด้วยเลย ผมก็จะมี อีก 1 ภาระกิจ คือ shopping list

ของเล็กๆน้อยๆ อย่างพวก ยาหม่อง ปากกาลูกลื่นยี่ห้อดีๆ แม้กระทั่ง ตุ๊กตากระดาษแผ่นๆที่มีชุดแต่งตัวเปลี่ยนได้ (สมัยนี้ไม่เห็นแล้ว) ก็เป็นอะไรที่ติดไม้ติดมือมามาฝากกันได้ เพราะส่วนใหญ่ก็จะกลับมาแท่นขุดเจาะฯเดิม (ระบบของบ.นายจ้างผมตอนนั้นเป็นระบบ crew 1 ชุด ดูแลประจำ 1 แท่นขุดเจาะฯ)

Crew change day
ตุ๊กตากระดาษ

ก่อนกลับผมก็มักแสดงความอารีอารอบ ไถ่ถามกัน

ถ้าของเล็กๆน้อยๆ ก็ฟรีๆ ไม่ได้หนักหนาอะไร แต่ถ้ามีราคาหน่อย ก็คิดเงิน ก็ไม่ได้อะไร พอไม่ให้เขารู้สึกเกรงใจ

ตอนนั้นเงินดอลล่าร์เป็นสินค้าควบคุม เมื่อควบคุม ก็จะมีตลาดมืด ที่พวกเรา expat จะรู้ดีว่าอยู่ไหน 555

อัตราแลกเปลี่ยนดีกว่ามาก ดังนั้น ผมก็มักไม่คิดค่าหิ้วของแพงอะไร เพราะพนักงานบ.แท่นขุดท้องถิ่นไม่ได้รายได้ดีอะไร

หลายๆคน รายได้น้อยแบบที่ผมใจหายเลยว่า บ.แท่นขุดเจาะฯรายได้ดีมากมาย แต่ทำไมจ่ายคนท้องถิ่นแค่นั้น

สรุปว่า ก่อนกลับ 24 ชม. ผมก็จะถามไถ่ว่าใครจะเอาอะไรไหม

คุณอาจจะคิดว่า แบบนี้ก็ฝากกันเพียบ

เปล่าเลยครับ ตรงกันข้าม คนอินเดีย (อย่างน้อยก็ที่ผมเจอบนแท่นขุดเจาะสมัยนั้น) ไม่ได้เป็นแบบนั้นเลย ออกจะขี้เกรงใจด้วยซ้ำ

ดังนั้น ผมก็มักจะเอาอะไรที่พื้นๆมาฝาก พวกยาหม่อง ยาดม ปากกาลูกลื่นยี่ห้อดีๆ เครื่อง เขียนเด็ก สวยๆดีๆ สำหรับคนที่มีลูกเล็กจะชอบมากๆ

ของพวกนี้น้ำหนักเบา ไม่เป็นภาระอะไรเรื่องน้ำหนัก แต่ทำให้ผมทำงานบนแท่นขุดเจาะฯได้อย่างราบรื่น และ สะดวกสบายขึ้นบ้างล่ะ

ผมได้พูดถึงเรื่องนี้เล็กน้อยในตอนที่พูดถึงการบินไทย ตามไปอ่านได้ที่ลิงค์ข้างล่างนี้ครับ (จิ๊กของแจกบนเครื่องเจ้าป้า คนบนแท่นขุดเจาะชอบมาก)

ตกปลา

สมัยนั้น เรื่องความปลอดภัยบนแท่นขุดเจาะฯยังไม่เคร่งครัดมากนัก เราสามารถเอาแปลญวนไปผูกขาแท่นเจาะ Jack up แล้วนอนเล่นกีต้าร์ หรือ ไปนั่งขอบๆแท่นเจาะฯ ตกปลากันได้

ทำไมต้องตกปลาก่อน crew change day

ไม่ได้ตกให้ตัวเองหรอกครับ

ไปช่วยพนักงานบ.แท่นขุดเจาะที่อยู่ล่างๆของปิระมิดน่ะครับ คนเหล่านี้ก็พวก room boy ผู้ช่วยกุ๊ก ช่างทาสี

หลายๆคนมาจากจังหวัด หรือ รัฐห่างไกล ลงจาก ฮ. ต่อรถประจำทาง ต่อรถไฟ ต่อรถเมล์ปุเลงๆ (บ้างก็เกวียน) กว่าจะถึงบ้านหลายวันก็มี

อาหารการกินเป็นเรื่องสำคัญ ปลาทะเลตัวล่ะหลายๆกิโลฯ นอกจากจะหมายถึงประหยัดค่าอาหารหลายวันของคนในครอบครัวแล้ว ยังจะหมายถึงหน้าตาของครอบครัวในหมู่บ้านด้วย เพราะหลายๆหมู่บ้านห่างไกลทะเล แทบไม่มีโอกาสได้กินอาหารทะเล

อย่าว่าแต่ กุ้ง หอย ปู เลยครับ ปลาทะเลธรรมดาก็เป็นอะไรที่ทรงคุณค่า มีหน้ามีตาในชุมชน

ส่วนมากมีคนชายขอบฐานปิระมิดกลุ่มหนึ่งที่มักตกปลา ฝากห้องครัวแช่แข็งเอาไว้ แพ็คอย่างดี เอาติดตัวกลับไปบ้าน

ผมเหรอ … เกี่ยวไรด้วย … เป็น expat เงินเดือนสูงลิ่ว …

ไม่มีไรหรอกครับ มันเหงา อยากมีเพื่อน ก็ไปนั่งเม้าท์มอย ตีซี้ ตกปลาไปไรไปงั้นแหละ ตกได้ก็ให้ๆแจกๆไป

เข้าใจว่าสมัยนี้ที่นั่นคงไม่มีบรรยากาศแบบนี้แล้ว เพราะว่านโยบายความปลอดภัยที่มากขึ้น และ ระดับเศรษฐกิจของคนที่นั่นคงดีขึ้นมาก ไม่ต้องห่อปลาแช่แข็งขึ้นรถไฟกลับบ้านนอกอีกแล้ว

ผมก็แค่โคตรคิดถึงคืนวันเก่าๆพวกนั้นจุงเบย เรียบง่าย ตกปลาอยู่ขอบขาแท่นขุดเจาะฯ … อิอิ

เคยมีคนถามผมว่า …

ภาพแท่นขุดเจาะฯไหนในความทรงจำที่สวยที่สุด …

ผมตอบว่า …

ภาพแท่นขุดเจาะฯที่มองผ่านหางเฮลิคอปเตอร์

ไปล่ะ กลับบ้านๆ …

เพราะแปลว่า ผมกำลัง กลับบ้าน ไงครับ 🙂

ตอนหน้า จะมาแฉว่า 48 ชม. หลัง ฮ.ลงจอดบนฝั่ง พวกผม (หรือ อาจจะผมคนเดียว 555) ทำอะไรกัน (18+) … ไม่แนะนำให้น้องๆนักเรียนนักศึกษาอ่านนะ

ถ้าจะซื้อของออนไลน์จาก 2 เจ้านี้อยู่แล้ว คลิ๊กลิงค์ หรือ โลโก้ ข้างล่างนี้เลยครับ ผมจะได้ค่าคอมฯเล็กๆน้อยๆสมทบทุนจ่ายค่าเช่า host server ขอบคุณครับ

(ไม่ต้องกังวลนะครับ ไม่ใช่ลิงค์ดูดเงินแน่ๆ)

https://raka.is/r/qlzXR https://raka.is/r/gP7GV

--- มีคำถามเพิ่มเติม พูดคุย เม้าส์มอย ไปต่อกันได้ที่กระดานสนทนา (webboard) นะครับ

คลิ๊กเลย

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

The Sweet Girl

ของมือสองของเฟิร์นค่ะ มีหลายชิ้นเลย ราคาดีสุดๆ (คลิ๊กที่รูปนะคะ ลิงค์จะพาไปที่ร้านค่ะ)

Fern shop

--------- คลิ๊ก - The Sweet Girl ----------