สัมปะทาน vs แบ่งปันผลผลิต เลิกดราม่า หยุดวาทะกรรม กันเสียทีเถอะ

สัมปะทาน vs แบ่งปันผลผลิต มาถึงวันนี้พวกเราคงเข้าใจระบบสัญญาการคลังปิโตรเลียม (Petroleum Fiscal Regime) แล้วว่ามีกี่ระบบ แต่ล่ะระบบมีลักษณะสำคัญอย่างไร แตกต่างกันอย่างไร ถ้ายังไม่ทราบยังไม่เข้าใจ แนะนำให้อ่านบทความข้างล่างนี้ก่อนเลยครับ

ระบบการคลังปิโตรเลียมแบบง่ายๆ < — คลิ๊ก
ทำไมต้องสัมปทาน … ทำเองไม่ได้หรือไง < — คลิ๊ก

แนะนำอย่างแรงให้ไปอ่านบทความสองตอนนี้มาก่อน ไม่งั้นจะไม่เข้าใจ แล้วจะอ่านต่อไปอย่างมีอคติเพราะขาดข้อมูลที่ครบถ้วน

ผมไม่เยิ่นเย้อล่ะ เอาเข้าประเด็นเลย เสียเวลาทำมาหารัปทาน

สัมปะทาน vs แบ่งปันผลผลิต

หัวข้อที่ถกกันอย่างเผ็ดร้อนในตอนนี้มีสองเรื่องคือ

1. ระบบไหนรัฐได้ผลประโยชน์มากกว่ากัน
2. ใครมีความเป็นเจ้าของทรัพยากรปิโตรเลียม

เอาเรื่องแรกก่อน

ระบบไหนรัฐได้ผลประโยชน์มากกว่ากัน

สัมปะทาน vs แบ่งปันผลผลิต นี่ประเด็นดราม่าเลยครับ …

ระบบสัมปะทาน (Concession) นั้น รัฐฯคือผู้ให้สัมปะทาน เอกชนซึ่งเป็นผู้รับสัมประทาน ก็เอาไปทำมาหาประโยชน์ ส่วนรัฐก็เรียกเก็บรายได้ต่างๆ เช่น ค่าภาคหลวง ค่าภาษี ค่าบำรุงท้องที่ ค่าเก๋าเจี๊ยะ ค่าเซ็นต์ชื่อ (Signature Bonus พูดง่ายๆคือ เงินกินเปล่านั่นแหละ) โน้นนี่นั้น ก็แล้วแต่จะเรียก และ ประดิษฐ์ประดอยตั้งชื่อกันไป

รายได้พวกนี้มีหลายแบบพิศดารพันลึก ง่ายๆก็แบบคงที่ หรือ แปรผันกับผลผลิต ทั้งแปรผันแบบเส้นตรงสัดส่วนเดียวกัน หรือ แปรผันแบบอัตราเร่ง แบบขั้นบันได แบบเป็นสมการก็มี โอ๊ย สารพัดจะจัดกัน

ส่วนระบบแบ่งปันผลประโยชน์ (Production Sharing Contract – PSC) นั้นพูดง่ายๆคือ เอกชนไปผลิตมา ขายได้เท่าไร แบ่ง % กัน ตามที่ตกลง แล้วก็มี ภาษีหรือ โน้นนี่นั่นแถมติดปลายนวม หรือ จะอะไรก็ว่ากันไป

เห็นไหมครับ … ทั้งสองแบบในแง่ของผลประโยชน์ มันทำได้ทั้งนั้น จะให้ใครได้มากได้น้อยแค่ไหน

ขนาดกฏหมายเขียนมารัดกุมแค่ไหน คนจะเลียงบาลี จะหาช่องโหว่ก็ยังทำกัน ก็ยังหา(ช่องโหว่)เจอ แค่เขียนสัญญาทั้งสองแบบให้ได้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ผลประโยชน์เยอะๆ ไม่ยากอะไรเลย

ดังนั้น หยุดดราม่าเถอะครับ ว่าระบบนั้นรัฐได้ผลประโยชน์มากกว่าระบบนี้ พอๆ แยกๆ

ผมการันตีด้วยสมองน้อยๆกับปัญญาหางอึ่งว่า ผมสามารถเขียนสัญญาให้ทั้งสองแบบ รัฐได้ผลประโยชน์เท่ากันเดี๊ยะ หรือ จะให้แบบไหนมากกว่าแบบไหนก็ได้ทั้งนั้น ขอแค่เครื่องคิดเลขกับกระดาษทดก็พอ

ถ้าเขียนให้มันสมดุล สมน้ำสมเนื้อ เขียนให้จูงใจ ทั้งสองระบบก็ดึงดูดเอกชนให้มาลงทุนได้เหมือนๆกัน

ใครมีความเป็นเจ้าของทรัพยากรปิโตรเลียม

นี่ก็ดราม่า แถมประเด็นวาทกรรมเข้าไปด้วย ….

มาดูตัวอย่างขำๆ(แต่จริง)กัน

คุณสามีครับ ใครมี และ เป็นเจ้าของรถยนต์บ้าง แหม … ยกมือกันพรึบ มีกันคนล่ะมากกว่า 1 คันด้วยซ้ำบางคน

ซื้อก็เงินเรา จดทะเบียนก็ในชื่อเรา มันก็ต้องของเราซิ(ว่ะ)

แต่ถ้าจะขายให้ใคร ราคาเท่าไร อุ้ย ต้องขอเมียก่อน (ขายได้เมียเอาเงินไป)
จะเติมน้ำมันยี่ห้ออะไร ครั้งล่ะเท่าไร ขอถามเมียก่อน (แต่เงินเรา)
ทำประกันกับที่ไหน ประกันแบบไหน เบี้ยเท่าไร ต้องให้เมียเห็นด้วย (เบี้ยประกันก็เงินเรา)
ขับไปชนมา จะซ่อมห้าง ซ่อมอู่ข้างบ้าน เดี๋ยวขอโทรฯถามเมีย (ค่าซ่อมก็เงินเรา)
เก่าแล้ว จะเปลี่ยน ก็ต้องกลับไปถามเมีย (ซื้อคันใหม่ก็เงินเรา)
จะเอาไปให้เช่า เออ … เมียจะให้ไหม ให้ใครเช่า กี่เดือน ค่าเช่าเท่าไร เมียต้องอนุมัติ (ค่าเช่าก็ต้องให้เมีย เรามีหน้าที่เซ็นต์ชื่อในสัญญาเช่าแค่นั้น)

คืนนึงก่อนนอน เอา teen ก่ายหน้าผาก ถามตัวเองว่า ตกลงรถคันนี้ของเราหรือของเมีย …

คุณว่ารถคันนี้ของใคร … ของเรา หรือ ของเมีย

ใช่ครับ … รถของเรา

แล้วมันจะมีความหมายอะไร ถ้าเป็น “ของเรา” แล้ว “เรา” ทำอะไรกับมันอย่างที่เราต้องการไม่ได้เลย

ไม่ใช่รถของเมีย แต่เมียทำอะไรกับมันก็ได้ … อืม น่าคิด

โดยทางทฤษฏีนั้นในระบบแบ่งปันผลผลผลิตทรัพยากรยังเป็นของรัฐ ในระบบสัมปะทานทรัพยากรเป็นของผู้รับสัมประทาน

ดังนั้นถ้าใช้ระบบสัมปะทาน …. อ้าว …. ขายชาติ เอาทรัพยากรของชาติไปให้เอกชน …

ในสัญญาสัมปะทานนั้น มีเงื่อนไขมากมายครับ เขียนลงไปซิครับ จะขายผลผลิตให้ใคร ราคาเท่าไร เงื่อนไขอย่างไร จะผลิตจากชั้นหินไหน ใช้เทคโนโลยีอะไร ผลิตยังไง เมื่อไร อย่างนั้นทำได้ อย่างนี้ไม่ได้ ฯลฯ เขียนมันเข้าไปซิครับ

อย่าไปโทษระบบเลยครับ คนเขียนเงื่อนไขสัญญานั่นแหละที่จะเขียนยังไงก็ได้

ในทางทฤษฎีปิโตรเลียมเป็นของผู้รับสัมประทาน แต่ในทางปฏิบัติผู้รับสัมปะทานจะทำอะไรทีก็ต้องมาขออนุญาติผู้ให้สัมปะทาน แล้วตกลงในทางปฏิบัติ ปิโตรเลียมเป็นของใคร

ระบบไหนๆก็ใช้ได้ทั้งนั้น ใช้สมองเขียนสัญญาหน่อย แทนที่จะเอาเวลามาชี้นิ้วว่า ระบบนั้นไม่ดีระบบนี้ดี

สุดท้ายก็เรา(รัฐ)นั่นแหละ ที่จะเขียนสัญญาให้ออกมาอย่างไร ตัวระบบไม่ใช่เป็นข้อจำกัดเลย

หยุดโลกสวย หยุดวาทะกรรม “ขายชาติ” ยกทรัพยากรของชาติให้เอกชน ทีเถอะ เอาสมองเอาเวลาไปเขียนเงื่อนไขดีๆเจ๋งๆในสัญญาให้รัฐฯได้ประโยชน์เยอะๆดีกว่า

สรุป

ผมไม่ขออะไรมาก ประมูลใหม่ เอราวัณ บงกช รอบนี้ จะระบบไหนก็ได้ ขอให้รัฐได้ผลประโยชน์ (Government take) สัก 80% ขึ้นไป (ปัจจุบัน สัมประทาน Thailand 3 รัฐได้ 70% กว่าๆ) และ เขียนสัญญาให้เจ๋งๆ อย่าให้ผู้รับสัมประทานปู้ยี่ปู้ยำแหล่งผลิตและการผลิต (reservoir & production) ผลิตแบบยั่งยืนๆ ใช้เทคโนโลยีการผลิตที่เหมาะสม ไม่ทำร้ายสิ่งแวดล้อม การจ้างงาน ขายในราคาที่เหมาะสม ขายให้ผู้ซื้อที่รัฐเห็นด้วย ฯลฯ

จบข่าว …

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *