Under the ground EP8 จากใต้พื้นพิภพ ตอนที่ 8 บีบเข้าไป (บีบอะไร)

Under the ground EP8 จากใต้พื้นพิภพ ตอนที่ 8 บีบเข้าไป (บีบอะไร) – ตอนนี้ เจ้าน้ำมันดิบที่กบดานอยู่ใต้ดินซะนาน ก็ออกมาสู่โลกภายนอกได้แล้ว (เฮ …)

การจะโผล่ขึ้นมาสู่โลกภายนอกของน้ำมันดิบนั้น เจ้าน้ำมันดิบจะต้องเดินทางผ่านอุปกรณ์ชนิดหนึ่งที่ฝรั่งเขาตั้งชื่อเสียน่าเอ็ดดูว่า …

Under the ground EP8

จากใต้พื้นพิภพ ตอนที่ 8 บีบเข้าไป (บีบอะไร)

เอาล่ะครับ … ตอนนี้ เจ้าน้ำมันดิบที่กบดานอยู่ใต้ดินซะนาน ก็ออกมาสู่โลกภายนอกได้แล้ว (เฮ …) การจะโผล่ขึ้นมาสู่โลกภายนอกของน้ำมันดิบนั้น เจ้าน้ำมันดิบจะต้องเดินทางผ่านอุปกรณ์ชนิดหนึ่งที่ฝรั่งเขาตั้งชื่อเสียน่าเอ็ดดูว่า Christmas Tree (แปลเป็นไทยก็ต้องเรียกว่า “ต้นคริสต์มาสนั่นแหละครับ)

ที่เรียกกันอย่างนี้ก็พอจะสันนิฐานได้ว่าในสมัยก่อนเจ้าอุปกรณ์ที่ว่านี้คงจะมีชิ้นส่วนยื่นออกมามากมายหน้าตาคล้ายๆต้นคริสต์มาสละมัง

แต่เมื่อวันเวลาผ่านไป เจ้าต้นคริสต์มาสนี้ก็ได้รับการพัฒนาขึ้นมาเรื่อยๆ จนในปัจจุบันหน้าตามันออกจะละม้ายคล้ายหุ่นยนต์เด็กเล่นขนาดใหญ่ซะมากกว่า (แต่เราก็ยังเรียกมันว่า Christmas Tree อยู่ดี)

เราจะติดตั้ง Christmas Tree นี้ไว้ตรงปากหลุม Christmas Tree นี้ทำหน้าที่เป็นเสมือนประตูสู่โลกภายนอกของเจ้าน้ำมันดิบ และภายใน Christmas Tree นั้นจะเต็มไปด้วยวาล์วต่างๆหลายตัวซึ่งมีไว้สำหรับ เปิด-ปิด เพื่อส่งน้ำมันดิบและก๊าซต่อไปยังกระบวนการผลิตขั้นถัดไป

จาก Christmas Tree อันเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อระหว่างใต้บาดาลกับพื้นพิภพนี้เราก็จะมีท่อเหล็ก อันมีชื่อว่า Flow Line ต่อออกมาอีกทีเพื่อให้น้ำมันดิบและก๊าซที่โผล่ขึ้นมาจากท่อผลิตเดินทางต่อไปยังสถานีผลิตได้

ในการผลิตน้ำมันขึ้นจากหลุมนั้น ในกรณีที่มีก๊าซปะปนกับน้ำมันขึ้นมามาก และ เราต้องการจะลดปริมาณก๊าซนี้ลง (ก็เราย่อมอยากได้น้ำมันมากกว่าก๊าซ) แต่ก็ไม่อยากลดปริมาณน้ำมันดิบที่ผลิตลง เราก็ต้องหาทางลดค่า Drawdown ลงนั่นเอง (จำคำนี้ได้ไหมเอ่ย) …

ทำอย่างไรล่ะถึงจะลดค่า Drawdown ลงได้ …

เราก็ต้องบีบท่อให้มันเล็กลง ทีนี้ลองนึกถึงเวลาที่เรารดน้ำต้นไม้ โดยเฉพาะต้นที่อยู่ไกลๆ เรามักจะบีบปลายสายยางให้เล็กลง หรือ เอานิ้วกดปลายสายยางไว้ เพื่อให้น้ำนั้นพุ่งไปไกลๆใช่ไหมล่ะครับ

การบีบปากท่อหรือเอามือไปอุดปากท่อไว้นั้นเท่ากับเป็นการเพิ่มความดันที่ปลายท่อนั่นเอง การที่ทำแบบนี้เราจะได้ปริมาณน้ำที่ไหลออกมาน้อยลง แต่น้ำจะไหลแรงขึ้นเพราะความดันของน้ำที่อยู่ปลายท่อสูงขึ้น และ ความดันที่เพิ่มขึ้น ณ. ปลายท่อนี่ก็จะส่งแรงดันย้อนกลับไปยังต้นทาง คือ ก๊อกน้ำด้วย ซึ่งก็เท่ากับเป็นการลดค่า Drawdown ที่ก๊อกน้ำนั่นเอง

ส่วนในการผลิตน้ำมันนั้น จะให้เราเอามือไปบีบหรืออุดปากท่อผลิตคงไม่ไหวแน่ แต่การที่จะทำให้ปากท่อผลิตเล็กลงนั้นเราสามารถทำได้โดยใช้อุปกรณ์ที่เรียกว่า Choke (หรือบางทีเรียกว่า Bean) คำว่า Choke (อ่านว่า โช้ค ที่เป็นคนล่ะเรื่องกันกับโช้คอัพรถยนต์) นั้นก็พอจะเข้าใจความหมายได้ว่า การทำให้อุดๆตันๆนั่นเอง

แต่ Bean นี่สิครับ จะแปลว่า ถั่ว ก็เห็นจะไม่ได้เรื่องแน่ แต่ก็พอจะสันนิฐานได้ว่าสมัยก่อนโน้น พวกนักสำรวจและผลิตน้ำมันอาจจะรู้สึกว่าการอุดท่อให้ตีบตันนั้นเปรียบไปก็คล้ายๆกับมีเมล็ดถั่วเข้าไปติดคอละมังครับ

แต่อย่างไรก็ตาม Choke หรือ Bean ในที่นี้เราจะหมายถึง ท่อเหล็กทรงกระบอกยาวสัก 6 นิ้ว ที่มีรูตรงกลางตลอดความยาว ซึ่งเจ้ารูที่ว่านี้ก็มีขนาดต่างๆกันตั้งแต่เล็กเท่าหลอดกาแฟจนกระทั่งถึงใหญ่ขนาดข้อมือเรา แต่ยังไงๆก็จะไม่ใหญ่ไปกว่าเส้นผ่าศูนย์กลางท่อ Flow Line ได้แน่ๆ

เราจะวางเจ้า Choke นี้คั่นลงไปใน Flow Line ทำให้น้ำมันดิบ และ ก๊าซ ที่ออกจาก Christmas Tree และ กำลังไหลมาตามสบายใน Flow Line นั้น เมื่อมาเจอรูตีบของ Choke เข้าก็เท่ากับว่าถูกเพิ่มแรงดันในทันที และแรงดันนี้ก็จะสะท้อนย้อนกลับไปยังก้นหลุม และ ลดค่า Drawdown ณ. ก้นหลุมในที่สุด

สรุปก็คือ เจ้า Choke นี้จะช่วยควบคุมแรงดันย้อนกลับ เพื่อในน้ำมัน และ ก๊าซ ไหลออกมามากน้อยได้ตามที่เราต้องการนั่นเอง เมื่อไรก็ตามที่เราต้องการเปลี่ยนขนาดของรู เรามีคำศัพท์อยู่ 2 คำ ที่ใช้เรียกกันซึ่งก็คือ Bean Up และ Bean Down (จำไว้นะครับ อย่าทำเชย เรียก Choke Up หรือ Choke Down เป็นอันขาด เพราะไม่มีใครเขาเรียกกัน)

Bean Up นั่นหมายถึงการเปลี่ยนขนาดรู Choke ให้ใหญ่ขึ้น และ Bean Down ก็ย่อมหมายถึงการเปลี่ยนขนาดรู Choke ให้เล็กลงนั่นเอง (ทีนี้ลองเดากันดูซิว่า จะเป็น Bean Up หรือ Bean Down กันแน่ ที่ทำให้น้ำมันไหลมากขึ้น ลับสมองกันอีกแล้วครับ)

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *