Zawtika พาเที่ยวแท่นผลิตซอติก้า บนนั้นเขาทำอะไรกัน กินอยู่กันอย่างไร

Zawtika … คลิปเก่าแล้วล่ะ ออกอากาศตั้งแต่ปลายๆปี 2014 ของรายการ เข้มข่าวค่ำ เอามารวมมิตรให้ดูกัน เกาะกระแสประมูลแหล่งผลิตบงกช และ เอราวัณ ที่กำลังจะมาถึง ให้เห็นว่า คนไทยก็สามารถเหมือนกัน ตั้งแต่ สำรวจ พัฒนา เจาะหลุม ออกแบบ ก่อสร้างแท่น ติดตั้ง ไปยัน เดินเครื่องปฏิบัติงานจริงๆ แถมยังข้ามแดนไปทำถึงทะเลพม่า

(นอกจากนี้แล้วก็ยังมี แหล่ง อาทิตย์ บงกชเหนือ และ บงกชใต้ ที่คนไทยก็ทำได้ตั้งแต่ต้นจนจบ)

Zawtika

ตามสไตล์ของผม #ข่าวเดียวกันอ่านที่นี่ได้มากกว่าข่าว จะพยายามสอดแทรกความรู้นิดๆหน่อยๆไว้ท้ายคลิปแต่ล่ะตอนก็แล้วกันนะครับ

สังเกตุเห็นเรือชูชีพที่เอาไว้สละแท่นในกรณีฉุกเฉินไหมครับ ลำคล้ายๆจรวด แต่ปักหัวลงทะเล เป็นแบบที่เรียกว่า free fall คือปล่อยร่วงเลย เป็นรุ่นใหม่เลยครับ เวลาใช้งานก็ปล่อยลง มันก็จะพุงจู๊ดลงทะเล อารมณ์ประมาณรูปข้างล่างนี้ครับ เหมือนพวกเครื่องเล่นในสวนสนุกเลยเนอะ

สีเสื้อชูชีพประจำแท่น ที่เห็นในคลิปก็เป็นสีเงินๆ สะท้อนแสงได้ สวยดีครับ แปลกตา ปกติจะเห็นแต่สีส้มๆ

M.O.G.E. ที่ในคลิปพูดถึงคือผู้คุ้มกฏที่เป็นตัวแทนรัฐบาลพม่า ซึ่งก็เทียบเคียงบทบาทได้กับ DMF (Department of Mineral Fuel) ก็กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติเรานั่นแหละครับ

ตอนท้ายๆคลิป จะเห็นว่าแท่นใหญ่ๆที่มีส่วนอยู่อาศัยต่ออยู่กับแท่นเล็กๆอีกแท่นที่เขียนว่า WP1

แท่นเล็กๆที่เขียนว่า WP1 เราเรียกว่า Wellhead platform เป็น unman platform คือ ไม่มีคนอยู่อาศัย หรือ บางที่เรียกว่า jacket เป็นแท่นที่รวมหัวบ่อของหลายๆหลุมเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อรวมเป็นท่อใหญ่ส่งเข้ามาที่แท่นใหญ่อีกที เพื่อแยกปิโตรเลียมออกจากกันเป็นส่วนๆ น้ำ น้ำมัน ก๊าซ ก๊าซเหลว (condensate หรือ condy) เพื่อเข้าขบวนการต่อไป

ส่วนเลข 1 ที่อยู่หลัง WP นั่นบอกว่านี่เป็น WP แรกนะ เกิดก่อนเพื่อนว่างั้นเถอะ WP ที่สร้างตัวต่อไปก็จะเป็น WP2  และ WP3 ตามลำดับ

อะ พอล่ะ ไปดูตอนต่อไปกัน

เห็นตะกร้าที่เราใช้รับส่งคนขึ้นลงระหว่าแท่นกับเรือไหมครับ นั่นเราเรียกว่า transfer basket บนแท่นขุด (drilling rig) เราก็ใช้วิธีเดียวกัน แรกๆก็เสียวครับ หลังๆก็สนุกดี วิวสวย มองไปรอบๆด้าน จะเห็นเรือ เห็นแท่นฯ ในมุมมองที่แตกต่างออกไป เสียดายที่ต้องจับตะกร้าเอาไว้ ไม่งั้นคงได้เก็บรูปสวยๆในมุมแปลกๆมาฝากกัน

แท่นนี้เป็นแท่นแบบที่ส่วนที่พักกับส่วนโรงงานอยู่บนแท่นเดียวกัน ดูในรูปนะครับ ส่วนที่พักจะสีขาวๆ ส่วนโณงงานก็จะเต็มไปด้วยท่อยั่วเยี้ยไปหมด

จากมุมนี้จะเห็นชัดเลยครับว่าเรือชูชีพมี 4 ลำ ติดกับส่วนที่พักอาศัย รูปร่างเหมือนตอร์ปิโด ในคลิปบอกว่ามีคน 80 คน ก็แปลว่า ลำล่ะ 20 คน สบายๆ หลวมๆ 🙂

ถ้ากูเกิลในเน็ต จะเห็ฯว่า มีแท่นผลิตอีกแบบที่ส่วนพักอาศัยจะอยู่แยกออกมาจากส่วนโรงงาน แล้วใช้สะพานเชื่อมเข้าหากัน ไม่เหมือน Zawtika ที่อยู่ในแท่นเดียวกัน ซึ่งแต่ล่ะแบบก็มีข้อดีและด้อยแตกต่างกันออกไป ผมจะไม่ลงลึกล่ะว่าอะไรอย่างไร เอาว่า ผู้เชี่ยวชาญเขาคิดกันมาแล้วว่า Zawtika ใช้แบบนี้ที่เป็นอยู่นั้นดีที่สุดแล้ว

จริงๆแล้ว แท่นผลิตเนี้ย ก็คือโรงงานดีๆนี่เองครับ แต่ไปอยู่ในทะเล ไม่มีอะไรมากกว่านั้นน้อยกว่านั้นเลย ส่วนพักอาศัยก็คือแคมป์คนงานนั่นแหละ แต่แทนที่จะเป็นแคมป์ในแนวราบ ก็เป็นตึกซะงั้น เช้ามาก็เดินออกไปทำงาน เย็นมาก็เดินกลับมาพัก ไม่ต้องกลัวรถติด 555 🙂

ส่วนแท่นขุด (drilling rig) พวกผมก็คือไซด์ก่อสร้างพร้อมแคมป์ที่พักในตัว ที่ย้ายไปขุดได้เรื่อยๆตามแต่คำสั่งจะลงมาให้ไปขุดที่ไหน

สังเกตุวิธีจับตะกร้าที่ใช้รับส่งคนขึ้นลงเรือนะครับ จะจับไขว้กัน คล้ายๆลักษณะกอดอก ตรงกลางตะกร้าก็เอาไว้วางของ ไม่ได้ให้ลงไปนั่นนะ ส่วนดนตรีประกอบนี่ จัดมาเหมือนหนังผจญภัยเลย 🙂

คลิปตอนนี้ พาลงไปที่ WP1 ที่เป็นที่รวมปากหลุมหลายๆหลุมเข้าไว้ด้วยกัน

ภาพข้างบนแสดงให้เห็น WellHead คือ ที่เป็นแท่งๆสีขาวๆนั่นแหละครับ ข่างล่างใต้แท่นนั้นก็คือหลุม 1 หลุม ต่อ 1 แท่ง ส่วนที่เห็นเป็นเหล็กทาสีเหลืองๆที่อยู่ใต้แท่งสีขาวนั่นก็ไม่มีอะไรมาก แค่แผ่นเหล็กที่ใช้รองเฉยๆ จะเห็นว่า บางจุดมีแต่แผ่นเหล็กรองเตรียมไว้ แต่ยังไม่มี WellHead มาวาง คือช่อง (slot) ตรงนั้น ยังไม่มีการขุดหลุม

เอ้า สาวไหนถามมาหลังไมค์ว่า แฟนไปอยู่บนแท่นผลิตแล้วติดต่อไม่ได้ ไลน์ไป เมล์ไปไม่ตอบ (แต่ไปกดไลค์สาวอื่นได้) ดูคลิปตอนนี้ก็คงได้คำตอบแล้วนะ อิอิ

ส่วนเรื่องไปทำงาน 28 วัน ขึ้นฝั่งมาแล้ว น้ำหนักพุ่งปรี๊ดๆ นี่ก็นะ อาหารการกินขนาดนี้ แถมใส่ชุดหมีด้วย ชุดหมีไม่มีเอว ไม่ใช้เข็มขัด พุงมันก็ยื่นออกๆแบบไม่รู้ตัว มารู้ตัวอีกทีตอนใส่กางเกงวันที่จะบินกลับ แล้วก็ไปโทษเครื่องซักผ้าบนแท่นว่า ซักยังไงกางเกงผมหดเล็กลง 555

จบเที่ยวแท่นผลิต Zawtika แล้วครับ ใครยังไม่อยากกลับก็ตามไปเที่ยวแท่นเจาะกับผมได้ต่อในลิงค์ข้างล่างได้ครับ

24-ชม-บนแท่นขุดเจาะน้ำมัน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *