SIMOP Simultaneous Operation

SIMOP ย่อมาจาก Simultaneous Operation แปลว่า ทำงานพร้อมๆกัน ภาษาบ้านๆ เราเรียกว่า มะรุมมะตุ้ม

ปกติแล้ว แบบดังเดิมๆ เวลาเราทำงานกันก็มักจะเข้าไปหน้างานทีล่ะชุดๆ ที่ฝรั่งเรียกว่า once at a time … ใครไม่คุ้นก็ นึกถึงงานก่อสร้างบ้านนะ

https://www.safeopedia.com/definition/6822/simultaneous-operations-simops

แผนกโยธาเข้าเคลียพื้นที่ หักร้างถางพง ถมที่ ปรับสภาพหน้างาน เสร็จแล้ว ส่งมอบพื้นที่ให้ฝ่ายก่อสร้าง เสร็จแล้วก็ส่งต่อให้ตกแต่งภายใน แล้วก็ให้ฝ่ายจัดสวน จัดภูมิทัศน์ แล้วส่งให้แผนกตรวจสอบคุณภาพ ก่อนมอบบ้านหรือสิ่งก่อสร้างให้ลูกค้า ฯลฯ

SIMOP

ถ้าเทียบเทียงงานฝั่งขุดหลุมปิโตรเลียนก็คล้ายๆกัน

ฝ่ายสำรวจพื้นที่เข้าไปก่อน ทำรายงานมา ฝ่ายโยธาตามเข้าไป ถ้าแหล่งบกก็ถมที่ แทนคอนกรีตในจุดต่างๆที่กำหนด ขุดหลุมเกรอะ ขุดบ่อน้ำโคลน ขุดบ่อบาดาลน้ำกินน้ำใช้ บลาๆ ฯลฯ ว่ากันไป

ถ้าทะเล ก็ไม่ต้องเตรียมอะไรมาก ไม่มีอะไรให้เตรียม เพราะ ถ้าฝ่ายสำรวจบอกว่า พื้นทะเลไม่โอเค มันก็ไม่มีทางเลือก ต้องย้ายแผนไปจิ้มที่อื่น

ถ้าเจาะบน Wellhead platform ใหม่กิ๊ก ก็ไม่มีอะไรมากมาย แท่นเข้าไปถึง ก็จัดเลย จิ้มๆ จะกี่หลุมก็ว่าไป

ถ้าเจาะบน platform ที่มีหลุมผลิตอยู่แล้ว (Wellhead platform) แผนกผลิต (production) เขาก็ต้องเก็บข้าวของ ปิดหลุมที่กำลังผลิตอยู่ และ อื่นๆ เพื่อให้ platform พร้อมให้แท่นเจาะเข้าไปคร่อม (jack up) หรือ เข้าไปตั้ง (tender assist rig)

ไม่ว่าจะ plaform ใหม่ หรือ มีหลุมผลิตอยู่แล้ว แผนกผลิต ก็ต้องส่งมอบพื้นที่ให้แผนกขุดเจาะ แผนกขุดเจาะก็เจาะจนเสร็จ จัดให้หลุมพร้อมผลิต (completion)

Well completion คืออะไร … เอาไว้เผื่อสอบสัมภาษณ์กัน

Well Completion หลักๆ 3 แบบ เจาะลึก (อีกนิด) ว่ามีอะไรกันบ้าง

แผนกขุดเจาะก็เจาะและทำให้หลุมพร้อมผลิตแล้วก็ส่งต่อให้แผนกผลิต (production) แผนกผลิต ก็จะส่งคนมาต่อท่อ (hook up) บลาๆ เข้าระบบผลิตต่อไป

ทุกครั้งที่มีการส่งมอบหน้างาน ก็จะต้องมีเอกสารกำกับ (handover report) ว่าส่งมอบอะไรให้ในสภาพไหน เหมือนเรามีเอกสารตรวจสอบต่อรับมอบ และ ส่งคืน บ้านเช่า หรือ รถเช่า นั่นแหละ

จะเห็นว่า การทำงานแบบนี้เหมือนส่งไม้วิ่งพลัด 4 x 100 เราก็ทำงานแบบนี้ของเรามาหลายสิบปี ใครเป็นเจ้าของพื้นที่ก็มีอำนาจเต็มในพื้นที่ บริหารจัดการกันไป

ถ้าดูใน grant chart ก็จะเป็นแถบหลากสีๆ หัวต่อท้าย ท้ายต่อหัว เหมือนถ่านไฟฉายต่อแบบอนุกรม

พอมาทุกวันนี้ อะไรๆก็รวบรัดรวดเร็ว การทำงานแบบดังเดิมก็ถูกตั้งคำถามท้ายทายมากขึ้นเรื่อยๆ ว่าจะทำให้มีประสิทธิภาพดีขึ้นได้อย่างไร งานเสร็จเร็วขึ้น ใช้เงินน้อยลง แต่ปลอดภัยเหมือนเดิม

การทำงานไปพร้อมๆกัน หรือ ที่เรียกว่า SIMOP จึงเกิดขึ้น

จริงๆแล้ว เราก็ทำมาตลอดแหละ ทั้งในงาน และ ในชีวิตประจำวัน แค่เราไม่ได้ทำเป็นทางการ ทำแบบมีหลักการ หรือ ทำมั่งไม่ทำมั่งแล้วแต่ความสะดวกสะบายใจของผู้กำกับควบคุมการปฏิบัติงานรอบนั้นๆ โครงการนั้นๆ คือ ทำกันแบบลูกทุ่งตลอดมา

เมื่อถูกท้ายโดยฝั่งบริหารธุรกิจ (management) ฝั่งปฏิบัติงาน (operation) ก็เลยต้องจริงจังเป็นเรื่องเป็นราว มีหลักการ มีคู่มือ แนวทางปฏิบัติ

ในการทำงานไปพร้อมๆกัน มีปรัชญาอยู่หลักๆไม่กี่เรื่อง วันนี้จะมารู้จักเรื่องไม่กี่เรื่องเหล่านั้นกันครับ

Bridging Document

เอกสาร เอกสาร และ เอกสาร … 555 หนีไม่พ้นหรอกครับ เมื่อมีมากกว่า 1 แผนก มามะรุมมะตุ้มกัน ต่างแผนกก็มีเอกสารแนวทางและควบคุมการปฏิบัติงาน เป็นของตัวเอง ก่อนลงมือลุยไปพร้อมๆกัน ก็ต้องมาจับเข่าคุยกันก่อนว่า อะไรที่แนวทางและควบคุมการปฏิบัติงานคาบเกี่ยวกัน จะใช้ของใคร หรือ จะสร้างขึ้นมาใหม่เลย เพราะใช้ของใครไม่ได้

เช่น ERP (Emergency Response Plan), Safety procedure, ช่องทางการรายงาน ผู้ต้องได้รับรายงาน ใบอนุญาติต่างๆ (ทั้งภายใน และ ภายนอกองค์กร) ฯลฯ

Line of command

สายงานการบังคับบัญชา ก็เป็นอีกเรื่องที่ต้องคุยกัน ทำงานแผนกเดียวมันไม่มีปัญหา แต่พอหลายแผนก เมื่อการทำงานของเราไปกระทบการทำงานของเขา ก็ต้องคุยกันก่อน

ใครในระดับไหน รายงานอะไรให้กับใคร รายงานแบบเป็นทางการ หรือ รายงานเพื่อทราบ รายงานถี่บ่อยแค่ไหน เอาให้ชัด

PIC – Person In Charge

นี่ก็สำคัญ ณ.เวลานั้นๆ ใครจะเป็นคนควบคุมและรับผิดชอบงานในภาพใหญ่ ภาพรวม เป่ายิ้งฉุบกัน เอ๊ย ถกกันให้เรียบร้อย ก่อนเริ่มงาน ใครเป็นเบอร์หนึ่ง ใครเป็นเบอร์สอง เบอร์สาม

RA – Risk Assessment

อะไรที่ทำแผนกเดียวไม่มีความเสี่ยง หรือ เสี่ยงน้อย แต่พอมากงาน มากคน ก็มากความ ความเสี่ยงก็มากไปด้วย มือใคร ตีนใคร เต็มพื้นที่ไปหมด ความเสี่ยงต่างๆ แม้เป็นเรื่องง่ายๆ ไม่น่าเสี่ยง มันก็เสี่ยงขึ้นมาได้ เช่น ที่ๆไม่ควรจะมีตีนมีมืออยู่ มันก็มีอยู่เมื่อทำงานไปพร้อมๆกันหลายแผนกแบบนี้

ประกัน

โดยปกติ แต่ล่ะแผนกจะมีการประกันภัย สินทรัพย์ ในการทำงานของตัวเอง ภายใต้ความเสี่ยงที่คำนวนเบี้ยประกันเอาไว้ แต่พอมาทำงานแบบมะรุมมะตุ้มนี้ ก็ไปดูกรรมธรรม์ตัวเองดีๆว่า จะโบ้ยการรับผิด การเคลมสินไหม อะไรกันอย่างไร หรือ จะ knock for knock ตัวใครตัวมัน ต่างคนต่างซ่อม ต่างคนต่างเคลม

ส่งท้าย

ผมเคยทำงานบนแท่นเจาะนอกชายฝั่ง แบบที่ต้องกอดคอทำงานไปกับหลายๆแผนกแบบนี้ 2 ครั้ง บอกเลย ปวดหัวมากๆ หลุมหนึ่งขุดอยู่ หลายหลุมก็ผลิตไปด้วย บางหลุมก็ hook up (ต่อท่อผลิตหลุมที่เพิ่งขุดเสร็จ) ไปด้วย อีกหลุมก็กำลังทดสอบ ทั้งหมดอยู่บน platform เดียวกันกลางทะเล คิดดูว่า จำนวนคนขนาดไหน ตบตีกันรายวันยังกับฝันร้าย

นึกถึงงานสร้างบ้านที่สารพัดช่างเข้าไปรุมทำงานพร้อมๆกัน เผลอๆบ้านเสร็จออกมากลายเป็นอะไรก็ไม่รู้ 555

ในความเห็นผมนะ เรื่องแบบนี้ต้องมีจุดที่เรียกว่า “พอ” คือ ทำพร้อมกันไปหลายๆอย่างเกินไป มันก็เสี่ยง เผลอๆจะเข้าตำรา เสียน้อยเสียยากเสียมาเสียง่าย

พอมาอยู่นี่เหมือนพักร้อนผ่อนคลาย location ของกู platform ของกู หลุมก็ของกู ใครอย่างมายุ่ง เสร็จเมื่อไรค่อยส่งคืนให้นะจ๊ะ 🙂

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *