Public apology การยอมรับความพ่ายแพ้ของผู้เข้าชิงฯสู่บทเรียนบนแท่นขุดเจาะฯ

Public apology การยอมรับความพ่ายแพ้ของผู้เข้าชิงฯสู่บทเรียนบนแท่นขุดเจาะฯ

เช้าวันนี้ (9 พ.ย. 2016) ก่อนออกจากบ้านได้ฟังข่างทีวีแว็บๆว่า สายๆวันนี้คงได้รู้ผลอย่างไม่เป็นทางการของการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ผู้เข้าชิงทั้งสองฝ่ายเตรียมตั้งเวทีแถลงรับชัยชนะ ฉลองความสำเร็จ และ แถลงยอมรับความพ่ายแพ้

Public apology

การตั้งเวทีเพื่อประกาศชัย และ ฉลองนั้น ผมไม่ค่อยแปลกใจเท่าไร แต่การตั้งเวทีแถลงยอมรับความพ่ายแพ้อย่างเป็นทางการหลังการแข่งขันสาธารณะนี่ต่างหากที่ผมชื่นชม เป็นแนวคิดและธรรมเนียมที่ดีมากๆในความคิดของผม เพราะได้แสดงถึงความเป็นผู้ที่มีวุฒิภาวะ รับกฏกติกาของสังคม ถึงแม้ว่าลึกๆอาจจะทำไปตามธรรมเนียมพิธีการ แต่ด้วยแนวคิดของธรรมเนียมวิธีการนี้แหละ ที่จะชี้นำความคาดหวังที่ถูกต้อง และ หล่อหลอมประชากร รุ่นต่อๆไป

เช้านี้ถึงที่ทำงานผมเลยกูเกิลเล่นๆด้วยคำสำคัญ “ประกาศยอมรับความพ่ายแพ้” สามหน้าแรกของผลการค้นหามีคำว่า ฟิลิปินส์ โปแลนด์ ญี่ปุ่น อเมริกา ฝรั่งเศษ เวเนซุเอล่า ศรีลังกา เกาหลี และอีกมากมาย แม้กระทั่งพม่า อืม … สังเกตุอะไรไหมครับ ไม่มีประเทศไทยในผลการค้นหา

ผมไม่ยอมแพ้ เปลี่ยนคำสำคัญใหม่ “ไทย ประกาศยอมรับความพ่ายแพ้” หน้าแรกของผลการค้นหา มียูทูบอภิสิทธ์ประกาศยอมรับความพ่ายแพ้ หน้าที่สอง มีข่าวพรรคเพื่อไทยยอมรับความพ่ายแพ้เลือกตั้งซ่อมสส. ทำให้ผมใจชื้นขึ้นมาหน่อยว่า การเมืองไทยก็รู้จักความเป็นผู้มีวิฒิภาวะ 🙂

เรื่องนี้ทำให้ผมนึกถึงเหตุการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นบนแท่นขุดเจาะนอกชายฝั่งอินเดียเมื่อสมัยผมเป็นวิศวกรสนาม wireline ใหม่ๆ ตอนนั้นผมมีลูกน้อง (เราเรียกว่า operator) 3 คน การทำงานภายใต้ความกดดัน ชั่วโมงทำงานที่ยาวนาน บวกกับความเสียหาย (tool failure) ติดต่อกันหลายๆครั้ง ก็ทำให้ลูกน้องผม 2 ในสามคนเกิดอาการฟิวส์ขาด

เหตุเกิดข้างๆ Logging unit บนชั้นดาดฟ้าของแท่นฯ คนหนึ่งง้างประแจคอม้ายาวเกือบเมตร คนหนึ่งคว้าค้อนปอนด์ด้ามยาวๆพอกัน (อารมณ์ประมาณ ธอร์ เทพเจ้าสายฟ้า กับ Die Hard กำลังจะตีกัน) ผมในฐานะหัวหน้าชุด ก็สั่งห้าม ให้เอาค้อนกับประแจวางลง ก็เชื่อกันดี วางอาวุธลงกัน

ผมหันหลังให้แว่บเดียว ลงไปนอนซัดกัน ตุ๊บตั๊บๆ บนพื้นซะงั้น ผมกับลูกน้องอีกคนก็พยายามเข้าไปแยก ก็ไม่แยกออก เลยไปเรียกคนงานแท่นเจาะอีก 3 – 4 คนมาแยก

แน่นอนว่า โดนส่งกลับฝั่งทั้งคู่ จัดลงเรื่อไปคนล่ะลำ เหลือผมกับลูกน้องอีกคนเดียวทำงานต่ออีก 3-4 วันจนเสร็จ

ผู้จัดการผม (เราเรียก Field Service Manager หรือ ย่อๆว่า FSM) เป็นคนอเมริกันชนรุ่น old fashion เรียกว่าอเมริกันหัวเก่า สไตล์คาวบอย โผงผาง พูดดัง ด่าจริงไรจริง แต่ก็รัก ดูแลลูกน้องดี โตมาจากบริษัท Flowpetro ให้บริการทดสอบการไหลของหลุม (Well Testing) แล้วข้ามมาเป็นผู้จัดการของ Wireline ตอน Flowpetro โดนบ.Wireline ที่ผมทำอยู่ซื้อกิจการมา

ผมกับลูกน้อง 2 คนโดนสอบสวนแยกทีล่ะคน

ในฐานะและตำแหน่งหัวหน้าชุด เกิดเรื่องแบบนี้ ไม่ว่าลูกน้องคนไหนผิด ผมก็โดนไปเต็มๆว่า ไม่สามารถดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยของงานและชื่อเสียงของบริษัทฯไว้ได้ ผมจึงได้บทเรียนที่สำคัญมากในตอนนั้นว่า ตำแหน่งหัวหน้างานสนามนั้นไม่ใช่แต่จะรับผิดชอบงานทางเทคนิคให้สำเร็จลุล่วงไปแค่อย่างเดียว ภาระที่แบกอยู่หน้างานมันมีอีกหลายมิติ

ลูกน้องสองคนนั่นก็โดนทำโทษทางวินัยไปตามระเบียบบริษัท

แต่ที่ผมชื่นชมหัวหน้าผมก็คือ ในช่วงที่มีการประชุมประจำสัปดาห์ของทั้งฐานสนับสนุนการปฏิบัติงาน (Offshore Support Base) ที่มีพนังงานอยู่ตั้งแต่ระดับผจก.สูงสุดของฐาน ไปยันแม่บ้านทำความสะอาด ร่วม 100 ชีวิต

หัวหน้าผมสั่งให้ผมและลูกน้องทั้งสองคนทำสิ่งที่แกเรียกว่า Public Apology แปลว่า ขอโทษต่อสาธารณะ

หัวหน้าผมเกริ่นนำเรื่องเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นย่อๆ แล้วแกสรุปสั้นๆว่า (ผมจำคำพูดชัดๆไม่ได้แต่ได้ใจความประมาณว่า)

  1. เหตุการณ์นี้เกิดในที่สาธารณะ ท่ามกลางคนหลากหลายเชื้อชาติ หลายอาชีพ
  2. ทำให้ชาติของพวกคุณ(หมายถึงคนอินเดีย)เสียชื่อเสียงในฐานะชนชาติที่รักสันติ
  3. ทำให้บริษัทซึ่งคือพวกเราทุกคนเสื่อมเสียชื่อเสียงในฐานะมืออาชีพ (สังเกตุว่าแกพูดถึงชนชาติความเป็นคนอินเดียขึ้นมาก่อนชื่อเสียงบริษัท)

ดังนั้นจึงเป็นการถูกต้องและสมควรที่จะให้พวกเราทั้งสามคน (ผมกับ operator 2 คน) รับผิดชอบโดยการกล่าวคำขอโทษต่อเพื่อนร่วมเชื้อชาติและเพื่อนร่วมอาชีพ แล้วแกก็ให้ผมขึ้นกล่าวขอโทษเป็นคนแรกในฐานะหัวหน้าทีม ตามด้วยลูกน้องต้นเหตุของเรื่อง

อุทาหรณ์สั้นๆที่ผมได้จากประสบการณ์นี้คือ

  1. เมื่อทำผิดก็ต้องขอโทษ ผิดต่อตัวบุคคลก็ต้องขอโทษต่อตัวบุคคล ผิดต่อสังคมต่อสาธารณะก็ต้องขอโทษต่อสาธารณะต่อสังคมที่เราเป็นสมาชิกอยู่
  2. หัวหน้าชุดทางสนาม (Field Engineer ที่มีลูกน้อง) ไม่ใช่แค่รับผิดชอบงานทางเทคนิคแล้วจบกัน มีหลายมิติมากมายที่ต้องกวาดสายตาไปให้ถึง เช่น ความปลอดภัย สิ่งแวดล้อม ความสุขใจ อึดอัดใจ ความเครียด ของลูกน้อง ชื่อเสียงบริษัท ฯลฯ
  3. อะไรที่เกิดขึ้นในที่สาธารณะ ไม่ใช่แต่ความเป็น “เรา” แค่คนเดียวที่เสียหาย(หรือได้ความดีความชอบ) มันรวมไปถึง “เพื่อนร่วมอาชีพ” และ “เชื้อชาติ” ของเราด้วย อย่างที่ผมเคยเล่าประสบการณ์ไว้ในเรื่อง “ชุดหมี

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *