Piper Alpha … เพียงครั้งเดียวก็เกินพอแล้วสำหรับเธอ … RIP

Piper Alpha เธอเป็นเจ้าของสถิติตลอดกาล …

เพราะเธอคือ

… หายนะครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติในการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมต้นน้ำนอกชายฝั่ง
… On board 226 คน ตาย 167 รอด 59
… มูลค่า(ทางการประกันภัย) หนึ่งหมื่นเจ็ดพันล้านปอนด์ (มูลค่าปี 1988)
… กว่า 106 ข้อผิดพลาดและบทเรียนทางด้านความปลอดภัยที่ปฏิวัติวงการสร้างและปฏิบัติงานบนแท่นเจาะและแท่นผลิตนอกชายฝั่ง

… แต่ไม่มีการตั้งข้อหาทางอาญากับผู้บริหารคนใดเลย !!!!

ตามผมมาครับ … ผมจะเล่าเรื่องของเธอให้ฟัง … เธอชื่อ Piper Alpha

นี่ครับ … เธอหน้าตาเป็นอย่างนี้(ตอนสวยๆ)

Piper Alpha

เธอเกิดเมื่อปี 1975 ทำคลอดโดย McDermott Engineering เจ้าของเธอคือ Occidental Petroleum (Caledonia) Ltd หรือที่พวกเราเรีกว่า “ออกซี่”

เธอเกิดมาเพื่อเป็นแท่นผลิตน้ำมันในทะเลเหนือ เธออาศัยอยู่ราวๆ 193 กม.ทางตะวันออกเฉียงเหนือของอเบอดีน ตรงที่เธออยู่นั้นน้ำลึก 144 เมตร (อ่าวไทยเราลึก ประมาณ 70 – 80 เมตร) เธอเริ่มผลิตน้ำมันได้ปลายปี 1976

เพื่อนบ้านเธอชื่อ Claymore และ Tartan ซึ่งก็เป็นแท่นผลิตน้ำมันของเฮีย “ออกซี่” เหมือนกัน (ตรงนี้สำคัญครับ ต้องกล่าวแนะนำตัวเพื่อนเธอไว้ก่อน เพราะเพื่อนเธอนี่แหละที่ตอนหลังมีส่วนทำให้เธอจากไปเร็วกว่าที่ควร)

นี่ครับ แผนที่ระแวกบ้านเธอ …

 

เธอเกิดมาเพื่อที่จะเป็นแท่นผลิตน้ำมัน แต่เมื่อน้ำมันผลิตได้น้อยลงๆ ก๊าซเริ่มปุ๋งๆออกมาเยอะเข้าๆ เฮียออกซี่เลยโมเธอ (modify – ปรับแต่ง) เพื่อให้เป็นแท่นผลิตก๊าซ (คล้ายๆเอารถใช้น้ำมันไปโมเป็นรถใช้ก๊าซน่ะ) แต่ไม่รู้เฮียแกโมเธออีท่าไหน

ตั้งใจพลาดหรือพลั้งเผลอโดยสุจริต เพราะเฮียแกพลาดไปสองเรื่อง

 
เรื่องแรก

คือเฮียแกเอาส่วนบีบอัดก๊าซ (gas compressor) ไปอยู่ติดกับห้องควบคุมของแท่น (control room) ซึ่งห้องนี้เป็นหัวใจของทั้งแท่น ก็ประมาณๆสะพานเดินเรือของเรือรบน่ะครับ ที่ถ้าโดนเครื่องบินบอมบ์เมื่อไรเรือรบก็เดี้ยง

เรื่องที่สอง

ที่เฮียแกลืม คือลืมเปลี่ยนผนังกันไฟ (fire proof) เป็นผนังกันแรงอัด (explosion proof) แต่นั่นไม่ใช้สาเหตุหลักเป็น แค่ตัวช่วยทำให้เรื่องมันแย่ลง …

 

6 กรกฎาคม ปี 1988 (ขออนุญาติใช้ปีสากลนะครับ … ก็ก่อนผมเข้าวงการไม่ถึงปีดี)

เวลา 1200 น. … (เที่ยงวัน)

เซฟตี้วาว์ล(ขอทับศัพท์ แปลไม่ถูกจริงๆ เอาว่ามันเป็นอุปกรณ์ตัวนึงที่จะตัดระบบปั๊มก๊าซทั้งหมด ถ้าความดันในระบบสูงกว่าค่าที่ตั้งไว้) ตัวนึงของปั๊มก๊าซ A เจ๊ง ทีมงานถอดออกซ่อมยังไม่เสร็จดี ก็เอาแผ่นเหล็กปิดหน้าแปลนแล้วเอาน๊อตขันติดหน้าแปลน(ตรงจุดที่ถอดเซฟตี้วาว์ลนั้นออก)เอาไว้ชั่วคราว

 

6 โมงเย็น … หมดกะกลางวัน

วิศวกรหัวหน้าทีมก็เขียนรายงานประจำกะตามปกติว่าห้ามเดินเครื่องปั๊ม A เป็นอันขาด แล้วก็เอาไปให้หัวหน้าแท่นที่ห้องควบคุมตามปกติ แต่ตอนที่เอารายงานไปให้เห็นหัวหน้าแท่นยุ่งๆอยู่เลยวางรายงานเอาไว้บนโต๊ะแล้วก็ออกกะไป แทนที่จะสรุปย่อให้ฟังอย่างปกติ

แล้วก็บังเอิญอย่างมากที่มีรายงานขอซ่อมปั๊ม A ที่จุดอื่นจากอีกทีมหนึ่งเข้ามาวางไว้ในเวลาไล่เลี่ยกันเสียด้วย (นี่ก็เป็นอีกจุดนึงที่ช่างทำให้เธอโชคร้ายเสียจริงๆ)

 

หนึ่งทุ่ม ….

เธอก็เหมือนกับแท่นผลิตทั่วๆไปน่ะครับที่มีปั๊มดับเพลิง 2 ระบบ ระบบแรกใช้น้ำมันดีเซล ระบบที่สองใช้ไฟฟ้า (ระบบไฟฟ้านี่ก็เดี๊ยงไปทันทีที่ระเบิดตูมแรก)

ระบบปั๊มที่ใช้ดีเซลมีให้ใช้ 2 แบบคือแบบออโต้กับแบบสั่งงานด้วยคน (manual) แต่ที่เธอไม่เหมือนใครคือเฮียออกซี่ออกกฏว่า ถ้ามีนักประดาน้ำอยู่ใต้น้ำไม่ว่าจะใกล้หรือไกลจากปลายท่อที่ดูดน้ำ(ขึ้นมาดับเพลิง)ให้ปรับระบบเป็น manual เพื่อกันนักประดาน้ำโดนดูดเข้าท่อ

ซึ่งในตอนนั้นเป็นฤดูร้อนที่ตอนกลางวันมีนักประดาน้ำลงไปทำงานตลอด พอตอนกลางคืน(ใครก็ไม่รู้) ก็เลยลืมปรับระบบกลับเป็นออโต้ นี่ก็เคราะห์ซ้ำกรรมซัด human error อีก

3 ทุ่ม 45

ปั๊มก๊าซ B เจ๊ง … เนื่องจากเป็นแท่นที่ใช้ก๊าซในการผลิตไฟฟ้าใช้ทั้งแท่น ถ้าไม่ปั๊มก๊าซต่อให้ทันระบบไฟฟ้าของทั้งแท่นจะดับ และ ก็ไม่สามารถส่งก๊าซ + น้ำมันเข้าฝั่งได้ ความเสียหายมหาศาล ห้องควบคุมก็วิ่งวุ่นซ่อมปั๊ม B และ พร้อมๆกันไปก็ดูว่าปั๊ม A นั่นเดินเครื่องได้ไหม

3 ทุ่ม 52

เจอใบรายงานขอซ่อมปั๊ม A ที่วางอยู่ (ขอซ่อมแต่ยังไม่ได้ซ่อม) ซึ่งไม่ใช่ใบรายงานที่บอกว่าห้ามเปิดใช้ปั๊ม A เพราะถอดเซฟตี้วาว์ลออกไปซ่อม จำได้ไหมครับว่าตอน 6 โมงเย็นตอนออกกะมีรายงาน 2 ฉบับเข้ามาพร้อมๆกัน (จาก 2 ทีม) … เธอก็เอวังเลยครับทีนี้

3 ทุ่ม 55

ทีมงานก็เดินเครื่องปั๊มก๊าซ A เจ้าแผ่นเหล็กที่ปิดหน้าแปลน(ตรงที่ถอดเซฟตี้วาว์ลออกไปซ่อม)ยึดไว้ด้วยน๊อต(กันฝุ่นกันน้ำเข้าเฉยๆ) มันก็ทนแรงดันไม่ได้ ก๊าซรั่วออกมาบานเลย ระบบตรวจจับก๊าซรั่วก็หวอๆดังลั่น แล้วก็ตูมครับ

วิศวกรที่อยู่ใกล้จุดระเบิดก็ปิดระบบผลิต emergency shut down คือ ปิดวาว์ลยักษ์ที่ก้นทะเล หยุดการไหลขึ้นมาของก๊าซและน้ำมัน ทีนี้ว่ากันตามทฤษฎีแล้ว มันก็น่าจะโอเค ทีเหลือก็ปล่อยให้ไฟมันมอดไปเองเพราะเชื้อเพลิงหมด

แต่จำได้ไหมครับที่ตอนต้นเกริ่นไว้ว่าเฮียออกซี่โมเธอไว้แบบไม่ตั้งใจหรือจงใจลืม ผนังไม่ได้เป็นแบบกันแรงงอัด แค่ทนไฟเฉยๆ ผนังมันก็ทะลุไปเจาะเอาท่อก๊าซอีกท่อหนึ่งเข้า ระเบิดขึ้นมาอีกระลอก

4 ทุ่ม 4 นาที

ระเบิดอัดผนังเข้าไปห้องควบคุม จำได้ไหมครับว่าเฮียแกโมเอาไว้แบบนี้คือเอาส่วนปั๊มก๊าซแรงดันสูงไว้ใกล้ห้องควบคุม ก็เรียบร้อยครับ

เหมือนเรือรบโดนทิ้งบอม์บลงกลางสะพานเดินเรือ วิศวกรทั้งหมดสละห้องควบคุม และ เธอก็ไม่ได้ออกแบบมาให้มีก๊อกสอง คือ ให้มีห้องควบคุมสำรอง (แท่นฯรุ่นถัดมามีครับ) สรุปคือเดี๊ยง และ ไม่มีการประกาศเตือนภัยเสียงทางสาย

 

ตามระบบที่ฝึกอบรมมา ถ้ามีเหตุฉุกเฉินให้ทุกคนไปที่เรือชูชีพ แต่คราวนี้มันไปไม่ได้เพราะไฟมันขวางอยู่ (ไม่รู้ว่าโมเธออีท่าไหน … พี่นก) เลยต้องไปรวมตัวกันอยู่ที่ห้องกันไฟที่ใต้ลานจอดฮ.

ซึ่งฮ.ก็ลงไม่ได้เพราะควันซะขนาดนั้น ปั๊มดับเพลิงระบบดีเซลที่ว่านั้นก็ล่องจุ้นไปแล้ว เพราะเป็นระบบ manual แล้วไม่มีใครไปสตาร์ทมัน ส่วนระบบปั๊มดับเพลิงไฟฟ้าก็กลับบ้านเก่าไปตั้งแต่ตูมแรกแล้ว

 

อ้อ … ตอนที่เพื่อนๆเราไปออกันอย่างไม่รู้ชะตากรรมในห้องกันไฟที่มีควันทะลักเข้ามานั้น รายงานจากผู้ที่รอดชีวิตกล่าวว่า มีผู้กล้าสองท่านสวมชุดผจญเพลิงออกจากห้องไปเพื่อพยายามจะไปสตาร์ทเครื่องปั๊มดับเพลิง

… แต่ก็ไม่มีใครเห็นผู้กล้าทั้งสองอีกเลย และ ปั๊มก็เงียบสนิท … (เพราะชีวิตจริงไม่ใช่ฮอลลีวู้ดที่บรูซ วิลลิส เธออึดรอดกลับมาเสมอ)

 

เรื่องมันแย่ลงไปอีกเมื่อเพื่อนบ้านเธอ Claymore ไม่ยอมหยุดปั๊มก๊าซ คืองี้ครับ Claymore กับ Tartan ต่อท่อน้ำมันขนาด(เส้นผ่าศูนย์กลาง)เมตรครึ่ง มาร่วมแจมกับท่อของเธอ(Piper Alpha) ที่ใต้ทะเลห่างจากเธอไปไม่ไกล เพื่อที่จะใช้ท่อกลางร่วมกันแล้วส่งน้ำมันขึ้นฝั่ง (แทนที่จะแยกกันสร้างท่อ สามแท่นสามท่อ ก็เป็นสามแท่นท่อเดียว)

พอท่อบนแท่นเธอรั่วระเบิด น้ำมันที่เพื่อนบ้านทั้งสองปั๊ม แทนที่จะเข้าฝั่ง(ที่ไกลออกไป จึงต้องใช้แรงดันสูง) ไปมันก็ย้อนกลับมาโผล่กลางกองเพลิงบนแท่น Piper Alpha (เพราะมันใกล้กว่า ไหลได้ง่ายกว่านี่นา)

 

เพื่อนเธอทั้งสองก็ไม่กล้าตัดสินใจหยุดปั๊มผลิตน้ำมันเข้าฝั่ง (ทั้งๆที่เห็นจะๆที่ขอบฟ้าว่าเธอกำลังลุกเป็นไฟ) เหตุผลง่ายๆก็เพราะหัวหน้าแท่นทั้งสองลังเล ไม่มีอำนาจเต็มในการสั่งหยุดผลิต และการสื่อสารล่ม จึงติดต่อเฮียออกซี่ที่ฝั่งไม่ได้ เพราะการหยุดผลิตมีผลเสีย(ทางการเงิน)มหาศาล และถ้าหยุดผลิตแล้วกว่าจะกลับมาเริ่มผลิตเดินเครื่องเต็มกำลังได้อีกก็โน้น 2-3 วัน (ผู้ถือหุ้นค้อนแย่เลย)

เพื่อนเธอทั้งสองจึงไม่ทำอะไรเมื่อได้ยิน May day ! May day ! แรกของเธอ

4 ทุ่ม 20

ท่อน้ำมันขนาดความดัน 120 atm (120 เท่าของความดันบรรยากาศ) ของ Tartan ละลาย และ ระเบิดขึ้นใต้ทะเลตรงใต้เธอพอดี

ก๊าซทะลักขึ้นจากใต้แท่นฯ 15 – 30 ตันต่อวินาที !!!!

แน่นอนครับ ตูมทันทีที่ก๊าซของ Tartan ปุ๋งๆพ้นพื้นทะเล เธอก็เลยโดยย่างสดจากข้างล่างซ้ำเข้าไปอีก (จากเดิมที่มีน้ำมันจากท่อของ Claymore ไหลย้อนขึ้นมาโผล่ ตูมๆ ใจกลางแท่น คราวนี้มีของ Tartan ปุ๋งๆขึ้นมาจะพื้นน้ำใต้แท่นอีก โดนสองเด้งเลย)

ภาพที่เห็นก็คือเธออยู่ใจกลางกองเพลิงสูง 150 เมตร

 

รายงานจากปากคำผู้รอดชีวิตกล่าวว่า ช๊อตนี้มีคนของแท่นลอยคออยู่ใต้แท่น 6 คน มีเรือเร็วเล็กของเรือกู้ชีพพร้อมหน่วยกู้ภัย 2 คน กำลังเข้าไปช่วย แต่พอท่อของ Tartan ระเบิด ก๊าซจาก Tartan ปุ๋งๆขึ้นมาบึมก็เอวังกันทั้ง 8 ชีวิต …

(เห็นที่คล้ายๆเรือตรงกลางภาพไหมครับ นั่นแหละครับเรือเร็วเล็กที่กำลังเข้าไปช่วย รูปนี้ถ่ายจากเรือกู้ภัยลำใหญ่ ซึ่งภายหลังต้องถอนตัวออกมาเพราะก๊าซจาก tartan ออกมาติดไฟเยอะมากจนราวสะพานเกือบจะละลาย)

 

 

แล้วส่วนต่างๆที่เหลือของเธอก็ร่วงลงทะเลทีล่ะส่วนๆ …

จนกระทั้ง เที่ยง 45 ของวันรุ่งขึ้น (วันที่ 7) เธอก็เหลือเพียงส่วนเดียว (A) ที่ยังไม่ร่วงลงไป (อ้อ เธอมี 4 ส่วน A B C D)

 

ที่ผมเล่ามาก็คร่าวๆน่ะครับ มีรายละเอียดและข้อขัดแย้งกันหลายประการที่ยังหาข้อสรุปไม่ได้ เพราะผู้เกี่ยวข้องสาบสูญหรือตายในที่เกิดเหตุ หรือผู้บริหารบิดเบือนข้อมูล ฯลฯ ก็ว่ากันไป รายละเอียดเพิ่มเติมอ่านได้จากที่นี่ครับ http://en.wikipedia.org/wiki/Piper_Alpha

 

มีคลิปค่อนข้างละเอียด สามารถหาดูได้ใน utube นะครับ key words คำว่า Piper Alpha

จำได้ว่าเมื่อยังละอ่อนตอนเข้าวงการใหม่ๆกลางปี 89 ก็ได้ดูวีดีโอชุดนี้แล้ว ฉุกคิดนิดๆเหมือนกันว่า “ตูมาทำ %$@* อะไรที่นี่ว่ะ” จะว่าไปกะไรมีนี่ก็อยู่มาจะ 30 ปีแล้ว

ขอคาราวะแด่ 167 ดวงวิญญาณที่จากไป …

ด้วย 167 ดวงวิญญาณ ในอ้อมกอดของเธอ … ทำให้มีการ เพิ่มเติมแก้ไข 106 คำแนะนำในกระบวนการความปลอดภัยในการทำงานในทะเลเหนือ ครอบคลุม การปฏิบัติงาน อุปกรณ์ บ.ขุดน้ำมัน บ.ก่อสร้าง platform และ สร้างแท่นขุด หน่วยราชการ และ อื่นๆอีกมากมาย ซึ่งต่อมาได้เอามาใช้ทั่วโลก … (รวมถึงในอ่าวไทยเราด้วย)

ผม และ พองเพื่อนเป็นหนี้บุญคุณพวกท่าน อย่างน้อยแท่นฯที่ผมอยู่ ที่ๆใช้ทำมาหากิน และ ระบบความปลอดภัยต่างๆ ได้พัฒนาให้ดีขึ้น สะดวกสบายปลอดภัยมากขึ้น และ ผู้บริหารตระหนักถึงความสูญเสียเนื่องจากการละเลยความปลอดภัยมากขึ้น

ขอทุกดวงวิญญาณจงไปสู่สุขคติ

… RIP ครับ

 

 

อีกหนึ่งปีถัดมา … อีกหายนะที่เราไม่เคยเลืม …

ปี 1989 … Seacrest ที่สุดตำนานแห่งหายนะในประวัติศาสตร์ขุดเจาะนอกชายฝั่งอ่าวไทย

 

Seacrest ที่สุดตำนานแห่งหายนะในประวัติศาสตร์ขุดเจาะนอกชายฝั่งอ่าวไทย

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *