Environmental impact นโยบาย และ มาตรการ ป้องกัน

Environmental impact นโยบาย และ มาตรการ ป้องกัน – อุตสาหกรรมเรามักจะถูกมองเป็นผู้ร้ายของสิ่งแวดล้อมพอๆกับเป็นเส้นเลือดใหญ่ในการพัฒนาประเทศ และโดยขนาดของอุตสาหกรรมที่ไม่สามารถไปหลบๆซ่อนๆทำกันตามห้องแถวหรือชายทะเลที่ไหน จึงจำเป็นต้องมีการกำกับดูแลตรวจสอบทั้งโดยรัฐ และ หน่วยงานสาธารณะอื่นๆ อย่างโปร่งใส

กรมเชื้อเพลิงฯก็มีมาตราการ นโยบาย ที่ชัดเจนในเรื่องนี้

แต่เหนือสิ่งอื่นใด ธรรมาภิบาล ความรับผิดชอบต่อสังคมสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยเป็นปัจจัยความสำคัญอันดับต้นๆของบ.ในวงการเรา เป็นเหมือนใบอนุญาติที่จะใช้ทำมาหากิน (license to operate) ไม่ว่าจะไปทำมาหากินอยู่ในประเทศไหน

ยิ่งในสมัยนี้ที่ทุกคนมีสื่อ มีอุปกรณ์ทำข่าว อยู่ในมือ บ.ต่างๆในอุตสาหกรรมเรายิ่งต้องเคร่งครัดต่อการตรวจสอบโดยสังคมสาธารณะมากยิ่งขึ้น ความผิดพลาดละเลยแม้เพียงเล็กน้อย ก็สามารถมีผลกระทบร้ายแรงถึงขั้นต้องหยุดปฏิบัติงานได้เลย อันหมายถึงการขาดรายได้ อันทำให้ผลประกอบการแย่ลง

ส่วนตัวผมเองก็ได้มีโอกาสเข้าไปร่วมอยู่ในทีมทีทำรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (EIA) 2 โครงการ ทำให้เห็นภาพเลยว่า ไม่ใช่เรื่องเล็กๆที่ทำกันพอเป็นพิธีพอให้มีชื่อว่าได้ทำ (paper exercise) ปริมาณรายงานที่ต้องทำเยอะมากๆ หลักฐานต่างๆต้องแน่น

ทำให้ได้รู้เบื้องลึกทางวิชาการในหลายๆอย่างที่ไม่เคยทราบ รวมทั้งการทดลองกับสิ่งมีชีวิตในทะเลต่างๆว่าผลออกมาเหมือนกับรายงานทางวิชาการไหม เพราะสัตว์ พืช ทะเล ก็แตกต่างกันไปตามภูมิภาค ต้องจ้างหน่วยงานเอกชน โดยมากก็อ.ตามมหาวิทยาลัย ทำการวิจัยทดลองอย่างเป็นระบบ ใช้งบประมาณพอสมควรเลยครับ

ยิ่งตอนที่ต้องเข้าไปบรรยายสรุป (present) และ ตอบข้อซักถาม (defense) คณะกรรมการสิ่งแวดล้อม ยิ่งท้าทายมากๆ เพราะคณะกรรมการแต่ล่ะท่านส่วนมากมาทำหน้าที่โดยตำแหน่ง และ อาวุโสมากๆ เช่น จากกระทรวงอุตสาหกรรม กรมเจ้าท่า ทหารเรือ นักวิชากการมหาวิทยาลัย (ที่ไม่เกี่ยวกับงานสำรวจและผลิตปิโตรฯเลย) และ อื่นๆ ราวๆ 15 ท่านในห้องประชุมขนาดใหญ่

การนำเสนอ และ ตอบข้อซักถามจึงท้าทายพวกเราเป็นทวีคูณ สิ่งที่ผมเรียนรู้จาก 2 งานนั้น คือ ความรู้ความสามารถทางเทคนิคเป็นสิ่งสำคัญมากๆ แต่จะสูญเปล่าไร้ประโยชน์ไปในทันทีถ้าไม่มีทักษะการสื่อสาร การอธิบาย แปลอังกฤษภาษาเทคนิคเป็นไทย และ แปลไทยเป็นไทย ให้ท่านๆเหล่านั้นเข้าใจและยอมรับได้ ต้องสามารถเปรียบเทียบ เทียบเคียง ความหมาย ความสำคัญให้เข้ากับประสบการณ์ของแต่ล่ะท่าน เช่น เมื่ออธิบายให้ทหารเรือฟังก็ต้องอธิบายต่างไปจากอธิบายให้อ.มหาวิทยาลัยในสาขาชีววิทยาทางทะเล เป็นต้น

สิ่งที่สำคัญอีกอย่างคือ EQ ความอดทน ในการนำเสนอ อธิบาย ตอบคำถาม ต้องไม่หลุด ไม่ออกอาการต่อหน้าผู้อาวุโสที่มีอำนาจชี้เป็นชี้ตายโครงการ

คุยมายาวพอแล้ว ไปอ่านคำตอบคำอธิบายของกรมเชื้อเพลิงกันดีกว่า …

Environmental impact

นโยบาย และ มาตรการ ป้องกัน

20. ในการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม มีนโยบายและมาตรการป้องกันผลกระทบสิ่งแวดล้อมอย่างไรบ้าง

กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ (ชธ.) มีแนวนโยบายและมาตรการในการป้องกันปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดขึ้นจากการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม โดยกำหนดว่า “ผู้รับสัมปทานจะต้องดำเนินการในด้านการป้องกันและบำบัดความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมโดยต้องดำเนินการตามมาตรฐานสากล”

และตามมาตรา 75 แห่งพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 ได้กำหนดว่า “ในการประกอบกิจการปิโตรเลียม ผู้รับสัมปทานต้องป้องกันโดยดำเนินมาตรการอันเหมาะสมตามวิธีการปฏิบัติงานปิโตรเลียมที่ดีเพื่อมิให้ที่ใดโสโครกด้วยน้ำมัน โคลน หรือ สิ่งอื่นใด ในกรณีที่ที่ใดเกิดความโสโครกด้วยน้ำมัน โคลน หรือสิ่งอื่นใดเนื่องจากการประกอบกิจการปิโตรเลียมโดยผู้รับสัมปทาน ผู้รับสัมปทานต้องบำบัดปัดป้องความโสโครกนั้นโดยเร็วที่สุด

ในกรณีที่ผู้รับสัมปทานไม่ดำเนินการหรือดำเนินการดังกล่าวจนเกิดความล่าช้า หรือหากไม่ดำเนินการทันทีอาจก่อให้เกิดความเสียหายมากขึ้น กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติหรือบุคคลอื่นที่อธิบดีมอบหมายอาจเข้าดำเนินการบำบัดปัดป้องความโสโครกนั้นแทนหรือร่วมกับผู้รับสัมปทาน โดยผู้รับสัมปทานเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายดังกล่าวทั้งหมด”

นอกจากนี้ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติได้กำหนดมาตรการให้ผู้รับสัมปทานต้องดำเนินการดังนี้

  • 1) ในการผลิตปิโตรเลียมจากแหล่งที่อยู่ในเขต 12 ไมล์ทะเลนับจากเส้นฐานตรง ผู้รับสัมปทานจะต้องไม่ปล่อยเศษหินจากการเจาะและน้ำจากกระบวนการผลิตลงทะเลโดยตรง
  • 2) ในการผลิตปิโตรเลียมในทะเล ผู้รับสัมปทานต้องดำเนินการอัดกลับน้ำทั้งหมดจากกระบวนการผลิตลงชั้นกักเก็บใต้ดิน (100% Produced water injection)
  • 3) ให้มีการลดปริมาณก๊าซเผาทิ้งจากโครงการผลิตปิโตรเลียม
  • 4) ให้มีการติดตามเฝ้าระวังผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากกระบวนการผลิต และบริษัทผู้รับสัมปทานต้องส่งรายงานการติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อม ให้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติซึ่งที่ผ่านมาผลการตรวจติดตามคุณภาพสิ่งแวดล้อมอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด
  • 5) กิจกรรมการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทย ต้องดำเนินการโดยมีมาตรการและแผนงานในทุกขั้นตอนให้มีความปลอดภัยสูงสุดตามกฎหมายปิโตรเลียม และมาตรฐานสากล ในการเจาะหลุมปิโตรเลียม กฎกระทรวงกำหนดให้มีการติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันการพลุ่งของปิโตรเลียม หรือ BOP (Blowout Preventer) ซึ่งมีวาล์วนิรภัยถึง 3 ชั้น และ ในหลุมผลิตจะต้องติดตั้งวาล์วนิรภัยภายในทุกหลุม เพื่อป้องกันและควบคุมความดันและสามารถปิดหลุมโดยอัตโนมัติหากมีเหตุฉุกเฉิน รวมทั้งมีเจ้าหน้าที่รับผิดชอบด้านความปลอดภัยของบริษัทผู้ดำเนินงานอยู่ประจำ และมีการตรวจสอบและกำกับดูแลอย่างใกล้ชิดจากพนักงานเจ้าหน้าที่ของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ
  • 6) บริษัทผู้ดำเนินงานจะต้องมีแผนรองรับเพื่อแก้ไข และเผชิญเหตุต่างๆ และมีการทบทวนซักซ้อมแผนอย่างสม่ำเสมอทุกปี โดยมีเครื่องมืออุปกรณ์เผชิญเหตุรั่วไหลของน้ำมันในทะเลไว้ที่แท่นเจาะหรือแท่นผลิต

หลักเกณฑ์และขั้นตอนในการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) สำหรับการเจาะหลุมปิโตรเลียมและการผลิตปิโตรเลียม มีดังนี้

  • 1. จัดทำรายละเอียดโครงการ รายละเอียดกิจกรรมโครงการของเสียและการจัดการ
  • 2. จัดทำและวิเคราะห์สภาพสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน ทรัพยากรสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ และ ชีวภาพ คุณค่าการใช้ประโยชน์ของมนุษย์ และคุณค่าต่อคุณภาพชีวิต
  • 3. ต้องมีการจัดกิจกรรมการมีส่วนร่วมของประชาชน การรับฟังความคิดเห็นอย่างน้อย 2 ครั้ง และมีการสำรวจทัศนคติผู้มีส่วนได้เสียโดยตรง
  • 4. ดำเนินการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม สังคม และสุขภาพอย่างเป็นระบบ ถูกต้อง และ โปร่งใส
  • 5. จัดทำมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมาตรการติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อม สังคม และสุขภาพ

จากรูปข้างบนแสดงให้เห็นว่า ฝูงปลาอาศัยอยู่อย่างชุกชุมรอบแท่นผลิตปิโตรเลียมในทะเลซึ่งเป็นตัวชี้วัดที่สำคัญว่า การผลิตปิโตรเลียมในทะเลไม่ได้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศวิทยาของสิ่งมีชีวิต

ในทางตรงข้ามกลับเป็นคอนโดมิเนียมหรือบ้านของปลาให้พักอาศัย และหลบคลื่นรบกวนในทะเล อาจสรุปได้ว่าที่ใดมีการขุดเจาะสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในทะเล เราจะเห็นฝูงปลาอยู่ในบริเวณนั้นอย่างชุกชุม ซึ่งไม่ได้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

ที่มา http://www.dmf.go.th/

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *