Driller Method Well Control ตอน Driller Method เราทำกันอย่างไร

Driller Method จู่ๆใครมาอ่านตอนนี้อาจจะงงๆก่งก๊งกันไปว่า อะไรมาจากไหน ยังไงกัน …

อะ อะ ไปอ่านตอนนี้มาก่อน —> Well Control เบื้องต้น

รื้อฟื้นกันนิดว่า อะไรยังไง … ตอนนี้เรามี influx เข้ามาอยู่ที่ก้นหลุม หัวเจาะเราก็อยู่ก้นหลุม สถานการณ์เป็นอย่างรูปข้างล่างนี้

influx มาจ่อที่ก้นหลุม

Driller Method

จุดหมายสุดท้ายคือ เราต้องการเปลี่ยนน้ำโคลนในหลุม(สีส้ม)ตอนนี้ ให้เป็นน้ำโคลนที่หนักขึ้นอีก เพราะว่า ถ้าใช้น้ำโคลนเดิมแล้วเปิดปากหลุม influx ก็จะแห่เข้ามาบานตะโก้

เออ … แล้วๆ น้ำโคลนใหม่ที่กดความดันชั้นหินก้นหลุมได้พอดี (เราเรียกว่า kill mud จะขอเรียกทับศัพท์นะครับ สั้นๆ เข้าใจง่ายกว่า) ต้องมีความหนาแน่นเท่าไรล่ะ

… ความหนาแน่นของ kill mud ก็น่าจะหนัก = ความหนาแน่นของน้ำโคลนเดิม + กับค่าความหนาแน่นน้ำโคลนส่วนเพิ่มค่าๆหนึ่งซึ่งน่าจะสัมพัธ์กับ SIDPP

(มาถึงตรงนี้ ทวนหน่อย SIDPP คือความดันที่ก้านเจาะที่ปากหลุม = ความดัน influx ที่ก้นหลุม ลบด้วยความดันเนื่องจากน้ำหนักน้ำโคลนความสูง TD ดูรูปประกอบ)

จะเห็นว่า SIDPP นี่แหละ คือความดันส่วนต่างที่เกินมาเนื่องจาก influx โผล่เข้ามาในหลุม เพราะถ้าไม่มี influx เข้ามา น้ำโคลนเดิมก็เอาอยู่ SIDPP ก็ไม่มีโผล่มาให้เห็น พอมี influx เข้ามา ก็มี SIDPP โผล่ขึ้นมาที่ปากหลุม

งั้นถ้าเราแปลง SIDPP ให้เป็นความหนาแน่นซะ แล้วเอาไป + กับความหนาแน่นน้ำโคลนเดิม ก็น่าจะได้ความหนาแน่นของ kill mud จริงป่ะ

แปลงไงดี … สูตรหากินเราครับ

ความดันหน่วยเป็น psi = 0.052 x ความหนาแน่นของเหลวหน่วยเป็น ppg x ความลึกหน่วยเป็นฟุต

จับย้ายข้างซะ ปรับสมการให้่ดูเข้าทางเรา

ความหนาแน่นของเหลวหน่วยเป็น ppg = ความดันหน่วยเป็น psi / (0.052 x ความลึกหน่วยเป็นฟุต)

เท่านี้ก็เสร็จเรา

ความหนาแน่นของ kill mud (psi) ก็น่าจะ = ความหนาแน่นของน้ำโคลนเดิม (psi) + SIDPP/(0.052 x ความลึกหน่วยเป็นฟุต)

เอาล่ะ เราได้ความหนาแน่นของ kill mud

ขั้นต่อไปทำไงดี ผสม kill mud แล้วปั๊มมันผ่านก้านเจาะลงหลุมไปเลยดีป่ะ แหมๆ … มันไม่ง่ายปานนั้น เพราะทั้งขบวนการเนี้ย เราต้องรักษาความดันที่ก้นหลุมให้คงที่เท่าเดิมเท่าตอนที่ influx เข้ามา

เพราะถ้าความดันน้อยกว่านั้น influx ชุดใหม่ก็จะเข้ามา ถ้าความดันเกิดมากกว่านั้น ชั้นหินรับไม่ไหว น้ำโคลนรั่วออกนอกหลุมไปอีก ระดับน้ำโคลนก็จะลดลง จนถึงจุดที่ความดันก้นหลุมต่ำกว่าความดันชั้นหิน influx ชุดใหม่ก็จะเข้ามา … วนๆไป

ดังนั้นจะสุ่มสี่สุ่มห้าสักแต่ว่าปั๊ม kill mud ลงไปไม่ได้ ต้องมีพิธีรีตรอง ไหว้เจ้าที่เจ้าทาง เอ๊ย คำนวนอะไรกันสักหน่อย

เราเรียกวิธีแรกนี้ว่า driller method เพราะมันง่าย ไม่ต้องคิดอะไรมาก คำนวนตัวเลขนิดๆหน่อยๆ driller ก็ทำเองไง มาดูกันว่าเราทำไงกัน

  1. เราก็ปั๊มน้ำโคลนเดิมแหละไล่ influx ออกไปก่อน ขณะที่เราปั๊มน้ำโคลนเดิม วิศวกรน้ำโคลน ก็จะไปเตรียมผสม kill mud เคล็ดลับคือค่อยๆปั๊มช้าๆ ปั๊มแค่ชนะแรงเสียดทานในระบบก็พอ

มาดูรูปสวยๆกันจะได้เข้าใจง่ายๆ

ช้าๆชัดๆ ดูกันจะจะ

(ที่มาของรูปและเนื้อหา Well Control School IDT ONGC http://www.ongcindia.com)

พอ influx ออกนอกหลุมไปแล้ว ยังเปิดหลุมไม่ได้ เพราะว่าน้ำหนักน้ำโคลนเดิมกดความดันชั้นหินก้นหลุมไม่ได้แล้ว ยังต้องปิดปากหลุมอยู่

ความดันที่อ่านได้ที่ก้านเจาะก็จะเท่ากับ SIDPP ความดันที่อ่านได้ที่ท่อกรุ(SICP)ก็จะเท่ากับ SIDPP เช่นกัน เพราะตอนนี้ influx ออกไปหมดแล้ว น้ำโคลนเดิมได้เข้าไปแทนที่ทั่วทั้งหลุมแล้ว พูดง่ายๆ SIDPP = SICP

2. ปั๊ม kill mud ลงหลุมผ่านทางก้านเจาะ ตามรูปข้างล่างนี่

ตอนปั๊ม kill mud

(ที่มาของรูปและเนื้อหา Well Control School IDT ONGC http://www.ongcindia.com)

ไม่ต้องไปสนใจกราฟครับ ดูรูปให้เข้าใจแนวคิดก็พอ

ส่วนใครอยากเข้าใจเรื่องกราฟนั่นจริงๆ ถ้าไม่เข้าใจแล้วมันคาใจ กินข้าวไม่ลง นอนไม่หลับ ยินดีครับ หลังไมค์มา จะจับเข่าอธิบายให้เป็นฉากๆเลย 🙂

มีคลิปง่ายๆให้ดู ประกอบด้วยครับ 12 นาที 51 วินาที ภาษาอังกฤษนะครับ

พอเสร็จพิธีแล้ว เราก็จะได้ kill mud ทั่วทั้งหลุม …. Happy ending … ทำการขุดต่อไปได้

ยังมีอีก 2 วิธีครับ …. ง่ายกว่านี้ เร็วกว่านี้ …

โปรดติดตามตอนต่อไป 🙂

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *