Abbreviation The Newcomer Headache

Abbreviation The Newcomer Headache – เรื่องที่ปวดตับมากสำหรับมือใหม่ เวลาอ่าน รายงาน หรือ การสื่อสาร เช่น อีเมล์ หรือ note ย่อต่างๆ คือ ตัวย่อ ที่เรียกว่า วงการไหนก็มี เหมือนใบสั่งยาที่หมอเขียนน่ะ ไม่ใช่หมอ พยาบาล เภสัช ก็อ่านไม่รู้เรื่อง

ไม่มีทางลัด ไม่มีไวยากรณ์ครับ จำอย่างเดียว 555 (สำนวนฝรั่งว่า swallow and digest แปลตรงๆ กลืนแล้วก็ย่อย)

ลองทดสอบดูว่ารู้จักคำย่อพวกนี้กี่คำ

DDR, POOH (POH), RIH, R/U, R/D, J/U, J/D, N/U, N/D, PT, _neg, conn, MD, AHD, VD, TOC, CIP, Cir, B/U, W/L, WO, WOW, BHA, HWDP, DP, DC, TJ, Csg, Tbg, JT, TDS, WOB, HL, X-tree, FT, FIT, SBT, LOT, Loss

เข้าใจเกินครึ่งไหมครับ 555 🙂 ถ้าเข้าใจเกินครึ่ง ผ่านครับ ไม่ต้องอ่านต่อล่ะ ถ้ายังเข้าใจไม่เกินครึ่งก็อ่านต่อครับ มีเฉลยแบบย่อๆ

บอกก่อนนะ นี่แค่บางส่วน ใครเจออะไรที่แปลกๆก็ถามมาได้ครับ

มาตกลงกันก่อน …

  1. เครื่องหมาย “/” บางที่ก็ล่ะไว้ไม่มี หรือ บางทีก็แทนด้วย “-” ส่วน อักษรตัวเล็กตัวใหญ่ก็ไม่มีมาตราฐานชัดเจน ใหญ่ๆ เล็กๆ ใหญ่ผสมเล็ก มั่วไปหมด ก็ทำใจหน่อย กะๆ เดาๆ เอา
  2. นี่เอาเฉพาะบางส่วนมานะครับ เอาที่เห็นผ่านตาบ่อยๆ จริงๆมีมากกว่านี้ ยังไม่นับ คำย่อเฉพาะ บริษัทต่างๆอีก นั่นก็ต้องไปเรียนรู้เฉพาะเอาเองเด้ออออ
  3. ถ้าผมคิดอะไรได้อีก ก็จะเอามาต่อท้ายไปเรื่อยๆนะครับ ถ้าให้ดี save post นี้เอาไว้ 3 – 4 เดือนมาอ่านใหม่ อาจจะมีคำย่ออะไรดีๆต่อท้ายอีกเยอะ

มาเริ่มกันเลย …

DDR – Daily Drilling Report รายงานกิจกรรมการขุดเจาะประจำวัน

Daily Drilling Report รายงานการขุดเจาะประจำวัน

POOH (POH) – Pull Out Of Hole ถอนก้านเจาะ

RIH – Run In Hole เอาก้านเจาะต่อๆกันลงหลุม

R/U – Rig Up เริ่มงาน

R/D – Rig Down จบงาน

J/U – Jack Up ยกแท่นเจาะแบบขาหยั่งให้ลอยขึ้นเหนือผิวน้ำ หรือ Jar Up กระชาก jar (กลไกสปริง) ขึ้น เพื่อให้ก้านเจาะหลุดจากการติดที่ก้นหลุม

J/D – Jack Down หย่อนแท่นเจาะแบบขาหยั่งให้ลงติดผิวน้ำ, Jar Down กระแทกjar (กลไกสปริง) ขึ้น เพื่อให้ก้านเจาะหลุดจากการติดที่ก้นหลุม

N/U – Nipple Up เอา BOP ขึ้นติดตั้งบนปากหลุม

N/D – Nipple Down ถอดเอา BOP ออกจากปากหลุม

PT – Pressure Test

_neg – negative ไม่สำเร็จ ไม่ได้ตามกำหนด เช่น PT_neg

conn – connection เกลียวข้อต่อ (ท่อกรุ ท่อผลิต ก้านเจาะ)

MD – Measure depth ความยาวหลุมตามแนวหลุม

AHD – Along Hole Depth ความยาวหลุมตามแนวหลุม ก็ MD นั่นแหละ

VD – Vertical Depth ความลึกตามแนวดิ่ง

TOC – Top Of Cement ระดับซีเมนต์ด้านบน เช่น TOC @ 3500 mMD

CIP – Cement In Place (เวลา)ที่ซีเมนต์ปั๊มเสร็จเข้าที่ เช่น CIP 1230 hrs.

Cir – Circulate ปั๊มน้ำโคลนลงหลุมโดยมากก็ลงก้านเจาะนั่นแหละ (มีบ้าง กรณีพิเศษที่ปั๊มลงช่องว่างระหว่างก้านเจาะกับท่อกรุ ที่เรียกว่า reverse circulation)

B/U – Bottom Up ปั๊มน้ำโคลนลงหลุมปริมาตร 1 หลุม หมายถึง เอาเศษหินจากก้นหลุมขึ้นมาปากหลุม 1 รอบ นั่นแหละครับ เช่น Cir 2 B/U แปลว่า ปั๊มน้ำโคลนปริมาณ 2 เท่าของปริมาณหลุมลงก้านเจาะ

W/L – Wireline หยั่งธรณี

WO – Wait On รออะไรสักอย่าง เช่น WO W/L SLB แปลว่า รอ งานหยั่งธรณีของ บ. SLB ที่อาจจะยังมาไม่ถึงแท่นเจาะ วิศวกรคงเมาค้างอยู่ อะไรเงี้ย 555 (แซวตัวเองในอดีต)

WOW – Wait on Weather รอสภาพอากาศ

BHA – Bottom Hole Assembly ทุกสรรพสิ่งที่อยู่ใต้ DP

BHA links … รวม links เกี่ยวกับ BHA (Bottom Hole Assembly)

DP – Drill Pipe ก้านเจาะ

Drill Pipe ท่อขุด ท่อเหล็กธรรมดาที่ไม่ธรรมดา ไม่ธรรมดาตรงไหน

HWDP – Heavy Weight Drill Pipe ก้านเจาะหนักพิเศษ (รู ID แคบ ผนังหนา มันเลยหนัก)

DC – Dril Collar ท่อเหล็กใหญ่หนา เอาไว้กดหัวเจาะ

TJ – Tool Joint ข้อต่อ DP และ BHA (แต่ถ้าเป็น ท่อกรุ ท่อผลิต เราเรียก conn – connection)

Csg – Casing ท่อกรุ

Tbg – Tubing ท่อผลิต

Jt – Joint เป็นลักษณะนาม ชิ้น หรือ ท่อน เอาไว้นับ DP, BHA, csg, tbg เช่น DP 50 jts แปลว่า ก้านเจาะ 50 ท่อน

TDS – Top Drive System มอเตอร์ตัวบักเอ๊บที่เคลื่อนที่ขึ้นลงใน derrick มันเอาไว้หมุนก้านเจาะ

WOB – Weight On Bit น้ำหนักที่กดก้านเจาะ (ไม่ใช่ Wait On B นะ)

HL – Hook Load น้ำหนักที่แขวนอยู่กับตะขอตัวมหึมาที่เรียกว่า hook ที่เคลื่อนที่ขึ้นลงใน derrick โดยมากมันก็คือ นน. TDS + (DP + BHA) ที่จมน้ำโคลนอยู่ในหลุมน่ะ

X-tree – Christmas Tree ชุดวาวล์ผลิตที่ติดไว้ปากหลุม ที่หน้าตาเหมือนไม้กางเขน หรือ หุ่นไล่กา น่ะ ส่วนใหญ่ก็จะสีแดงๆ เขียวๆ มองไกลๆคล้ายต้นคริสต์มาส

FT – Flow Test อยู่เฉยๆ ไม่ต้องทำไร นั่งดูว่าระดับน้ำโคลนในหลุมมันนิ่งไหม คือ ไม่เพิ่มไม่ลด แปลว่า ปกติดี

FIT – Formation Integrity Test ทดสอบว่าชั้นหินใต้ท่อกรุแข็งพอที่จะขุดช่วงต่อไปได้ไหม

SBT – Shoe Bond Test ทดสอบว่า ซีเมนต์ใต้ท่อกรุยึดแข็งแรงดีพอไหม

LOT – Leak Off Test ทดสอบว่า ชั้นหินใต้ท่อกรุรับความดันได้สูงสุดเท่าไร

Loss – ชั้นหินรั่ว น้ำโคลนไหลออกจากหลุม

Official Sponsor https://shopee.co.th/nnookk2510


อ่านเพิ่มเติมได้ที่ The SLB Energy Glossary | Energy Glossary

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *