เจาะชีวิตคนบนแท่น ตอนที่ 4 : กว่าจะเป็นก๊าซธรรมชาติ – ข่าว

เจาะชีวิตคนบนแท่น ตอนที่ 4 : กว่าจะเป็นก๊าซธรรมชาติ

“ไม่ว่า (จะยาก)อย่างไร เราก็ต้องทำ เพราะว่าเป็นของในบ้านเรา”
… พี่กิตติธัช มูลศาสตร์ (ผู้จัดการแท่นผลิตบงกชใต้)
… ปตท.สผ.

ตอนที่ 4 นี้ไม่มีอะไรมากครับ เน้นไปที่หน้าที่ของพนักงานห้องทดลองปฏิบัติการ และ การใช้ชีวิตบนแท่น

เจาะชีวิตคนบนแท่น ตอนที่ 4 : กว่าจะเป็นก๊าซธรรมชาติ

สำหรับห้องปฏิบัติการนั้น ที่พี่เขาบอกว่า ไม่เพียงแต่วัดค่าต่างๆของปิโตรเลียมเพื่อรายงานประจำวันทุกเช้าเท่านั้น แต่ช่วยหลายๆหน่วยงาน เรื่องนี้จริงเลยครับ

ห้องพี่เขามีอุปกรณ์ไฮเทคเยอะ วัดโน้น ส่องนั่น ตรวจสอบนี่ได้ แผนกไหน เจออะไรที่ต้องสงสัย และ อยากรู้ว่ามันเป็นอะไร มันบกพร่องเพราะอะไร สภาพมันยังไหวไหม ก็ส่งให้พี่แกได้เลย

เช่น อยากรู้ว่า เศษวัสดุที่เห็นเหมือนดินดำๆเนี้ย มันคืออะไร ซีเมนต์ น้ำมัน ขี้เหล็ก เกลือ หิน ฯลฯ อยู่อย่างล่ะเท่าไร วัสดุชิ้นนี้ร้าวหรือไม่ ฯลฯ พนักงานห้องนี้ก็จะตอบคำถามเบื้องต้นได้ ก่อนที่จะส่งเข้าฝั่งไปตรวจละเอียดอีกที(ถ้าต้องการ)

ผมยังแอบคิดเล่นๆเลยว่าพนักงานห้องนี้ต้องจบวิชา CSI (Crime Scene Investigation) ด้วยหรือเปล่า ถึงจะมาทำงานห้องนี้ได้ 555

มารู้จักกับ heat value กันดีกว่า จริงๆแล้วถ้าพวกเราอยากรู้ลึก รู้ละเอียดจริงๆก็สามารถกูเกิลเอาได้ครับ

แต่ถ้าขี้เกียจกูเกิล ผมก็อธิบายให้ฟังได้ง่ายๆว่า มันคือตัวเลขหนึ่งที่บอกว่าถ้าเอาก๊าซนี้มาปริมาตรหนึ่ง (เช่น 1 ลบ.ฟุต) เอาไปเผาแล้วได้ความร้อนเท่าไร หน่วยเป็น BTU ต่อ 1 หน่วยปริมาตรของก๊าซ ก๊าซที่ดีที่เหมาะเอาไปผลิตไฟฟ้า จะต้องมีค่าตัวเลขนี้เยอะๆ แต่ถ้าจะเอาก๊าซไปทำอย่างอื่น เช่น แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์พลาสติก ก็ไม่ต้องใช้ค่านี้มาเป็นตัววัดเพื่อซื้อขายกัน อาจจะเอาค่าอื่นที่เป็นประโยชน์กว่ามาวัดแทน

ค่าตัวเลขนี้เราเรียกว่า ค่าความร้อนจำเพาะของก๊าซ หรือ พูดกันย่อๆว่า ค่าความร้อน (heat value)

ตอนที่ 4 นี้พี่ส.ผ.ก็ยังยิงประเด็นย้ำเรื่องความซับซ้อนทางธรณีของอ่าวไทยเราที่ ชี “เยอะ” กว่าของเพื่อนบ้านข้างเคียง อันนี้ก็จริงอย่างที่ได้พูดมาแล้วหลายๆหน

ก็ดีดลูกคิดดูซิครับ เฉพาะของบงกชเหนือกับใต้ รวมกัน 700 หลุม ผลิตได้ 900 ล.ลบ.ฟุตต่อวัน (MMSCFD*) เท่ากับเฉลี่ยกลมๆถ้วนๆ 1.3 ล.ลบ.ฟุตต่อวันต่อหลุม ในขณะที่เพื่อนบ้านรั้วติดกันเขาโชคดีกว่าเรา(ในเรื่องโครงสร้างทางธรณี) 17 หลุม ผลิตได้ 600 ล.ลบ.ฟุตต่อวัน ก็ราวๆ 35.3 ล.ลบ.ฟุตต่อวันต่อหลุม

พูดง่ายๆ 1 หลุมของเขาผลิตได้เท่ากับ 27 หลุมของเรา !!!

เราต้องปลูกข้าว 27 ไร่ เพื่อให้ได้ผลผลิตเท่ากับเขาปลูกไร่เดียว ไม่ใช่เราเราขี้เกียจ เราทำไม่เป็น แต่ดินน้ำลมฝนฟ้ามันต่างกัน

ดังนั้น ใครจะวิจารณ์อะไร และ แนะนำอะไรให้กับวงการฯ กรุณาพิจารณาตัวเลข ดูข้อเท็จจริงประกอบด้วย เรายินดีรับฟัง และ พิจารณาปรับปรุงบนพื้นฐานของข้อมูล และ ข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ และ วิศวกรรม ไม่ใช่ วิศวะกะ (คือ กะๆเอา) หรือ วิศวะมะ (คือ มะโนเอา)

ใช่ครับ … เหตุผลส่วนหนึ่ง และ เป็นส่วนใหญ่ที่พวกเราตากแดดตากฝน ทนเหงา ทนหนาว ทนร้อน ทำงานกันที่นั่น ก็เพราะการยังชีพ เลี้ยงชีพ เลี้ยงปากท้องของเราและ ชีวิตคนที่เรารัก ห่วงใย และ รับผิดชอบ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่า ลึกๆแล้ว พวกเรามีความภูมิใจเล็กๆที่ได้ทำอะไรเพื่อชาติไปในตัว

คนที่ไม่เคยไปขายแรงงาน ขายความรู้ ขายความสามารถ เป็นทหารรับจ้าง หรือ มือปืนรับจ้าง เพื่อประโยชน์ของประเทศอื่นมาก่อน อาจจะไม่เข้าใจ หรือ ตระหนักในความภูมิใจเล็กๆของพวกเรา แต่ผมคนหนึ่งล่ะ เข้าใจดี ที่วันนี้ได้ทำอะไรเพื่อบ้านเกิดเมืองนอนบ้าง (ในขณะเดียวกันก็ตอบโจทย์ปากท้องได้ด้วย)

ขอปิดวันนี้ด้วยประโยคที่ใช้เปิด เพราะเป็นประโยคที่ได้ใจ(ผม)

“ไม่ว่า (จะยาก)อย่างไร เราก็ต้องทำ เพราะว่าเป็นของในบ้านเรา”
… พี่กิตติธัช มูลศาสตร์ (ผู้จัดการแท่นผลิตบงกชใต้)

* MMSCFD = Million Standard Cubic Foot per Day ทำไม ล้านหนึ่งถึงใช้ MM ไม่ใช้ M ตัวเดียว ผมเคยสงสัยครับ คำตอบคือ เขาใช้เลขโรมันครับ ในระบบเลขโรมัน M = 1000 ดังนั้น MM ก็คือ 1000 x 1000 ก็ล้านนั่นแหละครับ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *