หยุดการผลิตชั่วคราว ในพื้นที่ ส.ป.ก. โครงการเอส 1 เกิดอะไรชึ้น

หยุดการผลิตชั่วคราว ในพื้นที่ ส.ป.ก. โครงการเอส 1 เกิดอะไรชึ้น …

ที่มา ตลาดหลักทรัพย์

คลิ๊กอ่านเพิ่มเติม Money Channel ฐานเศรษฐกิจ

หยุดการผลิตชั่วคราว

เรื่องของเรื่องมันก็ไม่มีอะไรมากหรอกครับ เป็นเรื่องกึ่งปกติสำหรับบ้านเราที่กฏหมายหลายฉบับขัดกันไปขัดกันมา เดิมทีสปก.ก็ได้รับอนุญาติ(โดยใครหน่วยงานไหนก็ไม่รู้ผมก็จำไม่ได้)อย่างถูกต้อง (ณ.ตอนนั้น) ให้สามารถเอาทรัพยากรธรรมชาติไปทำประโยชน์ได้ตามกฏหมายอื่นๆที่เกี่ยวของกับทรัพยากรธรรมชาตินั้นๆ

อาจจะเป็นเพราะแนวคิดที่ว่าพื้นที่ส่วนนั้นสามารถเอาไปใช้เอาไปทำหรือให้ประโยชน์แก่ประเทศได้มากกว่าที่จะขีดวงไว้แค่การเกษตร จึงให้อำนาจเปิดไว้ให้เอาไปทำอย่างอื่นได้ นี่อนุมาน(เดา)เอาโดยผมเองนะครับ ไม่มีอะไรอ้างอิง

กาลเวลาผ่านไป … อะไรที่เคยถูกคิดว่าถูกต้องแล้ว ควรแล้ว ก็ถูกเอามาดูได้ใหม่ว่า ใช่ตามนั้นหรือไม่ ก็เห็นต่างไปไรไป เปลี่ยนขั่วอำนาจ เปลี่ยนคนตัดสินใจ อะไรก็ว่าไป วันดีคืนดีก็มีหน่วยงานมาตรวจสอบแล้วบอกว่า เอ … มันไม่น่าจะใช่แบบนั้นนะจ๊ะ

ก็ยื่นไปให้ท่านเปาฯตัดสิน ท่านเปาก็ฟันเปรี้ยงลงมาอย่างที่เป็นข่าว

ตื่นเต้นกันไป เต้นกันไปตามเสียงปี่เสียงกลอง

ผมอยากจะมองแบบฟันธงตามประสาคนทำงานมานาน มองโลกอย่างเป็นจริง

ทรัพยากรนั้นมีค่ามหาศาลอยู่ใต้ดิน การนำขึ้นมานั้น ก็ต้องอาศัยกฏหมายกฏระเบียบ ทุกประเทศก็มีกฏหมายมีกติกา และแน่นอน เวลาผ่านไป กฏหมายกติกาก็โดนเปลี่ยนโดนดัดแปลงกันไปไรไป ตามปัจจัยแวดล้อมต่างๆนาๆ แต่ความจริงก็คือ ทรัพยากรนั้น เป็นของประเทศ และ ต้องถูกนำขึ้นมาใช้ให้เป็นประโยชน์

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นจึง “ชั่วคราว” ไม่ได้ถาวรอะไร เป็นเรื่องของการตีความกฏหมายและกติกาเท่านั้น

จะไม่ให้ผลิตทรัพยากรนี้จากพื้นที่สปก.อย่างเลยหรือ … คงไม่แน่นอน

เดี๋ยวก็คงหาทางออกกันจนได้นั่นแหละ ผมไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญทางกฏบัตรกฏหมาย แต่ต้องมีทางแหละ ไม่งั้นจะไม่มีทางเอาทรัพยากรนี้ขึ้นมาเลย ซึ่งเป็นไปไม่ได้

จะเป็นคนอื่นที่ไม่ใช่ปตท.สผ.เป็นคนเอาขึ้นมาหรือ ก็คงไม่ใช่อีก เพราะ ปตท.สผ.ได้สัมปทานพื้นที่นี้มาอย่างถูกกฏหมาย ยกเว้นแต่จะฉีกกฏหมายทิ้ง ถ้าแบบนั้น ก็คงไม่มีใครลงทุนอะไรอีก เพราะขาดความมั่นใจในความเป็นนิติรัฐของประเทศ … งั้นรัฐก็ทำเองก็แล้วกัน

คำถามที่ควรถามคือ เมื่อไรปตท.สผ.จะกลับมาผลิตได้อีก และ จะด้วยวิธิทางกฏหมายวิธีใด เท่านั้นแหละครับ

ส่วนราคาหุ้นนั้น ก็นะ มันก็ “ชั่วคราว” อย่างที่ว่า ใครมองขาดก็เข้าไปช้อนไว้ วันนี้ตกลงมานิดหน่อย 2 บาทนิดๆ เดี๋ยวก็ขึ้น เอากำไรไปเป็นทุนการศึกษาน้องๆสบายๆไป 555 🙂

ที่ ปตท.สผ. 13061/00-4750/2017

5 มิถุนายน 2560

เรื่อง ชี้แจงการหยุดการผลิตชั่วคราว ในพื้นที่ ส.ป.ก. โครงการเอส 1
เรียน กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

ตามที่ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2560 ให้เพิกถอนระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เรื่องการให้ความยินยอมในการนำทรัพยากรธรรมชาติในเขตปฏิรูปที่ดินไปใช้ประโยชน์ตามกฎหมายอื่น กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติจึงแจ้งให้ผู้รับสัมปทานบนบกทุกรายหยุดกิจกรรมการผลิตปิโตรเลียมที่มีการดำเนินการอยู่ในพื้นที่ ส.ป.ก. เป็นการชั่วคราวนั้น

บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (ปตท.สผ.) ขอเรียนให้ทราบว่า บริษัท ปตท.สผ.สยาม จำกัด (ปตท.สผ.สยาม) บริษัทย่อยที่ ปตท.สผ. ถือหุ้น 100% ทั้งทางตรงและทางอ้อม และเป็นผู้ดำเนินงาน จึงได้หยุดการผลิตโครงการเอส 1 เฉพาะในพื้นที่ ส.ป.ก. ตั้งแต่วันที่ 3 มิถุนายน 2560 ทั้งนี้ที่ผ่านมา การดำเนินการของ ปตท.สผ.สยาม เป็นไปอย่างถูกต้อง โดยบริษัท ไทยเชลล์ เอ็กซ์พลอเรชั่น แอนด์โปรดักชั่น จำกัด (ไทยเชลล์) ผู้รับสัมปทานเดิม ได้รับอนุญาตเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ และต่อมาในปี 2536 ได้มีการออกประกาศพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตปฏิรูปที่ดินทับซ้อนพื้นที่ที่ผู้รับสัมปทานเดิมเข้าใช้ประโยชน์ ในปี 2543 บริษัท ไทยเชลล์ ได้ดำเนินการยื่นขออนุญาตใช้ที่ดินในเขต ส.ป.ก. พร้อมยื่นคำขอรับคำยินยอมให้ใช้ที่ดินในเขต ส.ป.ก. ตามระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เมื่อ ปตท.สผ. เข้าซื้อกิจการโครงการและเป็นผู้ดำเนินการตั้งแต่ปี 2547 จึงได้ดำเนินการเข้าใช้ประโยชน์ตามที่บริษัท ไทยเชลล์ ได้รับอนุญาต รวมถึงได้ขออนุญาตการเข้าใช้ประโยชน์ตามขั้นตอนอย่างต่อเนื่อง

อนึ่ง โครงการเอส 1 ตั้งอยู่ในพื้นที่จังหวัดสุโขทัย พิษณุโลก และกำแพงเพชร โดย ปตท.สผ. และ ปตท.สผ.สยาม ถือสัดส่วนโครงการเอส 1 ร้อยละ 100 มีปริมาณการขายน้ำมันดิบเฉลี่ยปี 2559 อยู่ที่ประมาณ 27,351 บาร์เรลต่อวัน ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ประมาณ 264 ตันต่อวัน และก๊าซธรรมชาติประมาณ 21 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ทั้งนี้ การหยุดการผลิตโครงการเอส 1 ในพื้นที่ ส.ป.ก จะส่งผลให้ปริมาณการขายน้ำมันดิบลดลงประมาณ 15,000 บาร์เรลต่อวัน ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ลดลงประมาณ 130 ตันต่อวัน และก๊าซธรรมชาติลดลงประมาณ 10 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน อย่างไรก็ดี กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติอยู่ระหว่างการรวบรวมผลกระทบที่เกิดขึ้นกับผู้รับสัมปทานบนบกรายอื่น เพื่อพิจารณาแนวทางแก้ไขปัญหาต่อไป

จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบ

ขอแสดงความนับถือ
สมพร ว่องวุฒิพรชัย
(นายสมพร ว่องวุฒิพรชัย)
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่

แผนกนักลงทุนสัมพันธ์ โทร. 0-2537-5919, 0-2537-5304, 0-2537-5779, 0-2537-4446

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *