ลักษณะเฉพาะ ของวิศวกรสนาม พวกเราต่างกับวิศวกรอื่นตรงไหน อย่างไร

ลักษณะเฉพาะ ของวิศวกรสนาม … ที่เขียนเรื่องนี้ เพราะมีคำถามมาเยอะว่างานวิศวกรสนามเป็นอย่างไร ต้องเป็นคนแบบไหน จริงๆก็เคยเขียนไปกว้างๆแล้ว แต่วันนี้อยากจะเจาะไปที่ลักษณะเด่น 3 อย่าง ผมว่ากันตามประสบการณ์ของผมล้วนๆนะครับ วิศวกรสนามท่านอื่นอ่านแล้วอาจจะไม่เห็นด้วย อันนี้ผมก็เคารพประสบการณ์ของทุกท่านนะครับ

ลักษณะเฉพาะ ของวิศวกรสนาม

อย่างแรก

ลักษณะเฉพาะของวิศวกรสนามอย่างแรกคือ เป็นงานที่ต้องลงไม้ลงมือทำเองกับมือ ใช่ครับ เราอาจจะมีลูกน้องให้ใช้ให้ช่วย แต่อยู่ในสนาม หนักเบาเราก็ต้องร่วมแบ่งปันกัน งานสำเร็จเราก็สุขด้วยกัน ได้ส่วนแบ่งความสำเร็จร่วมกัน เวลางานล้มเหลว งานมีปัญหาเราก็รับผิดชอบร่วมกัน อดหลับอดนอนร่วมกัน หรือ ผลัดกันหลับผลัดกันนอน

โดยส่วนตัว ผมไม่ชอบแท่นขุดฯที่แยกผมกับลูกน้องผมอยู่คนล่ะชั้น คนล่ะห้อง แบบวิศวกรจะอยู่ชั้นนึง ที่ไม่ใช่วิศวกรจะอยู่อีกชั้น และ กรรมกรจะอยู่ชั้นล่างสุด อะไรแบบเนี้ย สมัยก่อนผมจะมีลูกน้อง 3 คน ผมจะชอบแท่นฯที่มีห้องแบบ 2 เตียงหรือ 4 เตียง แล้วเราก็นอนห้องเดียวกันหมด ใช้ห้องน้ำห้องเดียวกัน เวลาทำงานก็ตื่นพร้อมๆกัน เสร็จงานก็นอนพร้อมๆกัน

นอกเวลางานเราก็เมาด้วยกัน กอดคอกันอ้วกทั้งเราทั้งลูกน้อง งานบวชงานแต่ง ไม่ว่าตัวเองแต่งเองหรือแต่งลูก งานขึ้นบ้านใหม่งานศพ เราก็ร่วมแสดงน้ำจิตน้ำใจกัน ลักษณะเด่นอีกอย่างของงานสนามคือเราอยู่ใกล้อันตรายมากกว่างานวิศวกรในห้องทดลอง หรือ นั่งทำงานกับคอมพิวเตอร์ในสำนักงาน

หลายๆครั้งที่เราต้องเชื่อใจลูกน้องและลูกน้องก็ต้องเชื่อใจเราในการทำงาน ไม่อย่างนั้นอุบัติเหตุที่ผลอาจจะถึงแก่ชีวิตอาจจะเกิดขึ้นได้ ก็ของแต่ล่ะชิ้นที่เราทำงานอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันมันเบาเสียที่ไหนล่ะครับ ตกปุ๊ลงมา ก็สาหัสล่ะ ไหนจะเรื่อง ความร้อน เสียง กัมตภาพรังสี ระเบิด จิปาถะ

ดังนั้นการทำงานด้วยมือหรือที่เราเรียกว่า hand on นั้นสำคัญ ถ้าใครไม่ใช่คนที่ชอบลงมือ หยิบ-จับ-ยก-แบก-ลาก-เข็น-หาม ก็ไม่ควรเข้ามาในวงจรนี้ นอกจากจะไม่ประสบความสำเร็จในระยะยาวแล้ว คุณอาจจะไม่สนุกกับงานประจำวัน โดนลูกน้องลองของ ลองวิชา และ อาจจะทำให้เกิดอุบัติเหตุได้

อย่างที่สอง

ที่สำคัญไม่แพ้กันคือ ไม่เป็นคนที่ต้องให้มีเครื่องมือและอุปกรณ์พร้อมถึงจะทำงานได้ ภายใต้กรอบของความปลอดภัยนะครับ หมายความว่า ถ้าความไม่พร้อมนั้น ไม่เกี่ยวกับความปลอดภัย ก็ไม่ควรจะบอกว่าทำไม่ได้ถ้าเครื่องมืออุปกรณ์ไม่พร่้อม

ธรรมชาติของงานสนามนั้น ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่างานสนาม คืออยู่ไกลฐานสนับสนุน(support base) ความไม่พร้อมและความขาดแคลนคือความปกติครับ เราไม่ได้ทำงานอยู่ในห้องทดลอง ที่มีห้องเก็บอุปกรณ์อยู่ข้างๆนี่นา ถ้าไม่สามารถยอมรับจุดนี้ได้ก็ทำงานลำบากครับ

ศัพท์ทางทหารเขาเรียกว่า แสวงเครื่อง คือพยายามทำงานให้ได้ภายใต้ข้อจำกัดและอุปกรณ์ที่มี รู้จักดัดแปลง ใช้สิ่งของอุปกรณ์ทดแทน รู้จักที่จะเลือกใช้เครื่องมือที่ทำได้หลายๆอย่าง แทนที่จะขนไป 20 อย่าง ขนไป 10 อย่างก็พอ แต่เป็น 10 อย่างที่ใช้งานได้ 20 อย่าง ตัวอย่างง่ายๆเช่น ชุด Swiss army knife ที่มีหลายๆเครื่องมือในชิ้นเดียว หรือเครื่องมือวัดทางอิเลคทรอนิคที่วัดได้หลายๆอย่างในเครื่องเดียว เป็นต้น

พูดง่ายๆคือต้องไม่เป็น perfectionist (คนสมบูรณ์แบบ หรือ นา่ยเพอร์แฟค) หรือ idealist (นักอุดมคติ)

ลักษณะสุดท้าย

ที่อยากจะกล่าวถึงคือ เป็นงานที่ต้องมีแผนสำรอง หรือที่เราเรียกว่า แผนสอง ก๊อกสอง หรือ ภาษาอังกฤษใช้คำว่า plan B หรือ backup plan สมัยอยู่ใน training school ของ บ.service ขาใหญ่บ.หนึ่งเมื่อ 30 ปีที่แล้ว ทุกวันที่ลงมือเรียนภาคปฏิบัติ จะโดนถามหรือโดนให้เตรียมไว้อย่างน้อย 2 แผนเสมอ คือ มี plan A แล้วต้องมี plan B

จนเดี๋ยวนี้ผมติดเป็นนิสัย เวลาทำอะไรที่สำคัญๆจะเตรียมแผนสำรองไว้เสมอ โดยเฉพาะเวลาต้องไปไหนทำอะไรไกลๆหาอะไรลำบากๆ หรือ แม้กระทั้งเข้าพักในโรงแรม ผมก็จะดูทางหนีไฟไว้อย่างน้อย 2 ทางเสมอ เผื่อหน้าสิ่วหน้าขวานทางหนึ่งเกิดใช้ไม่ได้ นับก้าวจากหน้าประตูห้องและลองเดินดูอย่างน้อยเดินนับก้าวไปถึงหน้าประตูหนีไฟ แม้จะไม่ได้เดินลงจริงๆก็ยังดี เมาๆ งัวเงียๆ ควันไฟคลุ้งลืมตาไม่ขึ้น ก็ยังนับก้าวเดินไปประตูหนีไฟได้ พาสปอร์ต เงินสด บัตรเครดิต เอกสารสำคัญ แยกกันเอาไว้สองชุด ฯลฯ

ทำไมต้องมี plan B นะเหรอครับ ก็ธรรมชาติของงานสนามอีกนั่นแหละครับ เพราะว่าหน้างานมักจะห่างจากฐานสนับสนุน ทั้ง software hardware มันก็นะ ไม่ได้เรียกมาขอมาง่ายๆ ไม่ใช่ต่อ wifi แล้วดาว์นโหลดมาได้ทันใจแบบ 4 จี ให้ส่งมาบางทีก็ขึั้นฮ.ต่อเรือ 7 วันถึง (ถ้าโชคดี 555) แต่จะให้ขนทุกอย่างมา 2 ชุด 2 ชิ้น 2 คน มันก็เป็นไปไม่ได้ในทางธุรกิจ

วิศวกรสนามต้องรู้จักวิเคราะห์หาวัสดุอุปกรณ์ที่เสี่ยงจะเจ๊งที่สุด และเป็นอุปกรณ์สำคัญที่ทำให้ทำงานต่อไม่ได้  แล้วขนเอาไปเท่าที่จำเป็น อะไรที่เจ๊งแล้วยังทำงานต่อได้ หาอย่างอื่นแทนได้ แต่อาจจะลำบากหน่อย ก็ไม่ต้องเอาสำรองไป

บางทีไม่มีของชิ้นนั้นทั้งชื้นที่จะเอาไปสำรอง ก็ต้องคิดลึกลงไปอีกชั้นว่าถ้าของชิ้นนั้นมันเจ๊ง ชิ้นส่วนย่อยของมันอะไรที่น่าจะเจ๊ง แล้วเอาเฉพาะชิ้นส่วนย่อยนั้นไปพร้อมกับอุปกรณ์ที่จะใช้ซ่อมมัน เช่น หัวแร้ง ตะกั่วบักกรี ประแจพิเศษที่ใช้ถอดประกอบ เครื่องมือวัด manual diagram software ฯลฯ

คือต้องคิดข้ามช๊อตกันเลย และโดยมาก เรื่องพวกนี้ก็มักจะมากกับรอยตีนกา ความเก๋า สมัยผมทำงานใหม่ๆก็ขนไปเพียบ 555 พอเก๋าเกมส์ขึ้นก็น้อยลงๆ ความสามารถพลิกแพลงเล่นแร่แปรธาตุก็เก่งขึ้น …

หรือ แม้กระทั้งเรื่องพื้นๆ เช่น สัปดาห์นึงมีฮ.ลำเดียว เรือเที่ยวเดียว ที่เราไปได้ คืออาจจะมีหลายลำ แต่โค้วต้าของบ.เราให้แค่วันเดียว (ซึ่งมักจะเป็นแบบนั้น) ต้องไม่ตื่นสาย ต้องไม่เมา นาฬิกาปลุกต้อง 2 เรือน + wake up call ของโรงแรม 555 เรียกว่ามีแผน A B C

ครับวันนี้ก็ราวๆนี้ก่อน 3 ลักษณะที่สำคัญของงานวิศวกรสนามคือ

1. งานที่ต้องลงไม้ลงมือทำเองกับมือ

2. ไม่ต้องรอของครบก็ทำงานได้ถ้าไม่เกี่ยวกับความปลอดภัย และ

3. มีแผนสำรองไว้เสมอ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *