ระบบแบ่งปันผลผลิต PSC ในพ.ร.บ.ปิโตรฯฉบับล่าสุด ฉบับบ้านๆ เข้าใจง่ายๆ

ระบบแบ่งปันผลผลิต PSC ในพ.ร.บ.ปิโตรฯฉบับล่าสุด ฉบับบ้านๆ เข้าใจง่ายๆ … ประมวลมาจากข้อมูลสาธารณะที่แพร่กระจายอยู่ในสื่อต่างๆนี่แหละครับ เอามาทำให้เข้าใจได้ง่ายๆ ผิดถูกอย่างไรก็ขอรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียวครับ

คำบรรยายสไลด์จะอยู่ด้านบนสไลด์นั้นๆนะครับ ยินดีให้นำไปใช้ภายใต้เงื่อนไข

  1. แสดงที่มา
  2. ไม่ใช้เพื่อการค้า
  3. ไม่ดัดแปลง

ที่ท้ายบทความมีลิงค์ให้ดาว์โหลดด้วยนะครับ เป็นไฟล์ PDF ที่หัวมุมซ้ายบนแต่ล่ะสไลด์จะมีไอคอนเป็นรูปคำพูดเล็กๆ

คลิ๊กดูจะมีคำบรรยายเหมือนกับที่บรรยายในเว็บนี้เลย เวลาเอาไปใช้ก็ฉายสไลด์แล้วพูดตามไปเลยครับ 🙂

ระบบแบ่งปันผลผลิต PSC

เราเริ่มมีพ.ร.บ.ปิโตรเลียมฉบับแรกปี พ.ศ. 2514 นับเป็นฉบับที่ 1 แล้วเราก็แก้ไขต่อเติมเสริมแต่งกันมาเรื่อย จนถึงปี พ.ศ. 2532 มีการแก้ครั้งใหญ่ ถือเป็นฉบับที่ 4 ก่อนหน้า ปี พ.ศ. 2532 เราเรียกชื่อสัมปทานว่า ไทยแลนด์ 1 และเรียกชื่อสัมปทานตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2532 เป็นต้นมาว่า ไทยแลนด์ 3

จนเมื่อเร็วๆนี้ มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อีกหนหนึ่ง กำเนิด พ.ร.บ. ฉบับล่าสุดที่เพิ่งมีผลบังคับไปเมื่อ 30 มิถุนายน นี้เอง ที่พ.ร.บ.นี้แตกต่างจากพ.ร.บ.อื่นๆก่อนหน้า ก็ตรงที่ เปิดให้มีถึง 3 ระบบ ในพ.ร.บ.เดียวกัน คือ สัมปทาน (concession) แบ่งปันผลผลิต (Production sharing contract) และ จ้างบริการ (service contract) วันนี้เราจะมารู้จักกับระบบแบ่งปันผลผลิตในพ.ร.บ.ฉบับนี้กัน

ก่อนจะไปรู้จักกับระบบแบ่งปันผลผลิตในพ.ร.บ.ฉบับนี้ เรามาไขข้อข้องใจกันหน่อยว่า ไทยแลนด์ 2 หายไปไหน ก็ตามสไลด์เลยครับ พูดภาษาบ้านๆ แปลไทยเป็นไทย ก็คือ การแบ่งปันผลประโยชน์ในไทยแลนด์สองเข้มไปหน่อย เอกชนประมูลไปได้แล้ว ราคาน้ำมันตก ก็ไม่มีใครสำรวจและผลิตกัน ให้ยึดหลักประกันแล้วคืนแปลงสัมปทานกันหมด

หลักๆใจความสำคัญย่อมาสุดๆได้ประมาณนี้แหละครับ ที่ดราม่าเป็นห่วงเป็นใยกันนอกหน้าเอาไว้ว่าทรัพย์สินต่างๆจะต้องเป็นเอกชนนั้น เขียนในสัญญาก็ได้นี่ และ ก็เขียนไปแล้วว่าเป็นของรัฐนะ แล้วก็ไม่เรียกว่าผู้รับสัมปทานแล้วนะ เราเรียกใหม่ว่า ผู้รับสัญญา เรียกให้ถูกๆเดี๋ยวจะเชยนะครับ

หมัดต่อหมัด ปอนด์ต่อปอนด์ ก็ได้ประมาณนี้ ตรงระยะเวลาที่ว่า 3+5 (+4) ปีนั่น เป็นภาษารู้กันวงในว่า ช๊อตแรกได้ 3 ปี ต่ออัตโนมัติ อีก 5 ปี คือขอต่อแล้วได้ต่อแน่ๆ ส่วนในวงเล็บ (+4) คือ มีสิทธิ์ขอได้ แต่ไม่การันตีว่าจะให้นะจ๊ะ อารมณ์นั้นครับ

ที่น่าสังเกตุอีกอย่างคือ การขอคืนค่าใช้จ่ายต้นทุน (cost recovery) มีแต่ในระบบแบ่งปันผลผลิตเท่านั้นนะครับ

เนื่องจากใน พ.ร.บ. นี้มี 3 ระบบ จึงต้องมีหลักเกณฑ์บรรจุไว้ว่า แบบไหนยังไง ถึงจะใช้ระบบไหน แรกเลย ก็ใช้ขนาดของแหล่งเป็นหลัก ถ้าแหล่งใหญ่อู้ฟู้ๆ ก็ไปโน้นเลยใช้ จ้างบริการ (Service contract) เพราะอะไร ในระบบจ้างบริการ เอกชนเป็นเพียงผู้รับเหมา เหมือนผู้รับเหมาสร้างบ้านนี่แหละครับ เอกชนไม่แคร์ว่าแหล่งใหญ่ ไม่ใหญ่ ผลิตได้มากได้น้อย เขาไม่แบ่งปันความเสี่ยงด้วย เขาได้ค่าดำเนินการเท่ากัน แต่คนจะจ้างนี่ซิ ต้องคิดหนัก เพราะถ้าแหล่งเล็กๆ ผลิตได้นิดเดียว ขายผลผลผลิตได้ไม่พอค่าจ้างดิ จริงไหมครับ ดังนั้น แหล่งต้องใหญ่ขนาดหนึ่งล่ะ

ถ้าแหล่งไม่ใหญ่พอจะจ้างบริการได้ล่ะ เอาไงต่อ ก็มาดูที่โอกาสที่จะเจอ ถ้าโอกาสดี ก็แปลว่าความเสี่ยงต่ำ เอามาแบ่งปันผลผลิตน่าจะดี เพราะเอกชนน่าจะสนใจมากกว่า

แต่สำหรับส่วนตัวผม อย่างที่ได้แสดงจุดยืนไปแล้วในตอน สัมประทาน vs. แบ่งปันผลผลิต เลิกดราม่า หยุดวาทะกรรม กันเสียทีเถอะ ว่าแบบไหนก็ไม่ต่างกัน แต่ก็เข้าใจคนร่างพ.ร.บ.ที่ต้องหาอะไรสักอย่างมาตัดสินว่าแบบไหนจะใช้สัมปทาน แบบไหนจะใช้แบ่งปันผลผลิต ก็เลยมาลงที่โอกาสที่จะเจาะสำรวจเจอนี่แหละ โดยเอาโอกาสที่จะเจาะสำรวจเจอเฉลี่ยของทั้งประเทศเป็นเกณฑ์ ถ้ามากกว่าก็ไปทางแบ่งปันผลผลิต แต่ถ้าน้อยกว่าก็ไปสัมปทาน

ชัดเลยครับ ข้อมูลจากเว็บไซด์กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ไม่ใช่ความลับวงในที่ไหน ก็ตามนั้นเลย โอกาสเฉลี่ยเจาะสำรวจเจอในบ้านเราก็ 39%

กลับมาดูเงื่อนไขต่อ โอโห เงือนไขความใหญ่ของแหล่งที่กันออกมา ใหญ่มาก ในประเทศไทยเราไม่มีแหล่งไหนใหญ่เบอร์นี้ เหมือนการบอกปัดการจ้างผลิตไปกลายๆล่ะ ตกกระป๋องไป ที่เหลือก็มาวัดกันที่โอกาสเจาะสำรวจเจอ ก็ตามตัวเลขนั่นแหละครับ อ่าวไทยก็ต้องใช้ระบบแบ่งปันผลผลิตไปตามนิยามของพ.ร.บ.ฉบับนี้

ต่อมาเรามาดูกันว่า ใครได้เท่าไรจากตรงไหน สไลด์นี้จะดูยุ่งๆหน่อยนะครับ แต่จำเป็นที่ต้องเอาสองระบบมาวางคู่กัน จะได้เปรียบเทียบให้เห็นชัดๆ ทั้งสองระบบตั้งต้นเหมือนกันที่ ราคาขายคูณปริมาณผลิต อย่างที่ผมวิเคราะห์ไว้แล้วว่าทั้งสองระบบออกแบบมาให้ผลประโยชน์เข้ารัฐได้มากน้อยยังไงก็ได้ ดังนั้นสำหรับผม รูปนี้ไม่ค่อยมีความหมายอะไรเท่าไร

สไลด์นี้บอกว่า เวลาประมูล เอกชนเขาเอาอะไรมาสู้กัน ก็มีไม่กี่อย่าง มีอัตราหักค่าใช้จ่ายต้นทุน เช่น หักน้อยๆ ผลกำไรจะได้เยอะๆ เวลาเอาที่เหลือไปแบ่งกันก็จะแบ่งกันได้เยอะๆ หรือตรงส่วนแบ่งกำไร เอกชนก็สู้กันที่ว่า ใครจะแบ่งให้รัฐเยอะกว่ากัน

แล้วก็มีผลตอบแทนพิเศษอื่นๆ เช่น ค่าเซ็นต์สัฐญญา (signature bonus) ก็คือเงินให้เฉยๆตอนทำสัญญากันนี่แหละ เรียกว่าค่าน้ำหมึกก็ไม่ผิดนัก เงินบำรุงพัฒนาท้องถิ่น สร้างโรงเรียน โรงพยาบาล ถนน สะพาน ผับ คาราโอเกะ หรือ อะไรก็ว่าไป หรือ อาจจะเป็นเงินให้รัฐเปล่าๆเมื่อผลิตได้ตามเป้าขั้นบันไดที่กำหนดไว้ เช่น ผลิตได้ 3 ล้านถัง ให้รัฐไปเลย 20 ล้านบาท และอีก 5 ล้านบาททุกๆ 2 ล้านถัง ที่เกินจาก 30 ล้านถัง อะไรเงี้ย

หรือจะเป็นอะไรที่จับเป็นเงินไม่ได้ก็ได้ เช่น สัญญาว่าจะจ้างงานคนไทย 95% หรือ ใช้ของไทย 80% ขึ้นไป อะไรประมาณนี้ แล้วแต่เอกชนจะสรรหามาเพิ่มให้รัฐเพื่อให้โดยรวมๆแล้ว รัฐได้ผลประโยชน์มากกว่าคู่แข่ง

ดาวโหลดสไลด์ (PDF)

PSC 2017 standard size

PSC 2017 wide screen size (อัตราส่วนประมาณที่เห็นในเว็บ 1200 x 630)

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *