ประมูลสัมปะทาน ปิโตรเลียม รอบที่ 21 เหลียวมองข้างหลังก่อนจะก้าวไปข้างหน้า

ประมูลสัมปะทาน ปิโตรเลียม รอบที่ 21 … เหลียวมองข้างหลังก่อนจะก้าวไปข้างหน้า

“The more you know about the past,
the better prepared you are for the future”

… Theodore Roosevelt

(Former President of U.S.A)

ใกล้เข้ามาทุกทีแล้วสำหรับการประมูลฯรอบใหม่ ก่อนเที่เราจะเดินไปข้างหน้า อยากจะชวนทำความเข้าใจอะไรนิดหน่อย ในบางแง่บางมุมของวงการการสำรวจและผลิตฯ และ ระบบการให้สัมปทานฯ

ประมูลสัมปะทาน ปิโตรเลียม รอบที่ 21

เรื่องแรกเลยที่เรามักจะได้ยินกันติดหูในข่าวอยู่ 2 คำ คือ จำนวนสัมปทาน และ จำนวนแปลง ก็เลยอยากชวนทำความเข้าใจในเบื้องต้นก่อนว่า 2 คำนี้คืออะไร

รัฐฯ(โดยกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ) ได้เอาแผนที่ประเทศไทยออกมากาง แล้วตีเส้นกำหนดขอบเขตพื้นที่ เหมือนกำหนดหลักโฉนดนั่นแหละ รูปร่าง และ ขนาดของพื้นที่ที่กำหนดก็ไม่เท่ากัน แล้วก็ตั้งชื่อให้พื้นที่เหล่านี้ 1 พื้นที่ (หรือ 1 โฉนด) ก็คือ 1 แปลง

รูปร่างหน้าตาแปลงต่างๆก็ราวๆในรูปข้างล่างที่เราคุ้นๆตากันดีนี่แหละ

แผนที่นี่ก็ไม่ใช่ความลับอะไร กูเกิลเอาได้ หรือ ถ้าต้องการแบบชัดๆ แบบล่าสุดๆก็เข้าไปสั่งซื้อกันได้ที่ลิงค์ข้างล่างนี้

http://www.dmf.go.th/order_map/otp/index_log.php?driecturl=aW5kZXgucGhwP3Y9MQ==

เอาล่ะ ก็รู้จักคำว่า แปลง กันไปแล้ว นึกถึงหน้าโฉนดที่ดิน ยังไงยังงั้นเลย

ต่อมาคือคำว่า “จำนวนสัมปทาน” ให้นึกถึงคำนี้เหมือน ใบอนุญาติประกอบธุรกิจ เช่น มี 3 จำนวนสัมปะทาน ก็คือ 3 ใบประกอบธุรกิจ ซึ่งใน 1 ใบประกอบธุรกิจ(สัมปะทาน) อาจจะครอบคลุมจำนวนโฉนด(แปลง) ได้มากกว่า 1 โฉนด(แปลง)

นั่นแปลว่า ในการเปิดประมูลรอบหนึ่งๆ รัฐฯจะบอกว่า รอบนี้จะเปิดให้ประมูลแปลงไหนบ้าง (ไม่ใช่เปิดประมูลกันทุกแปลงในประเทศ) และ บอกกฏกติกาการประมูล (TOR Term Of Reference) บ.ไหนจะยื่นประมูลแปลงไหนอะไรอย่างไร ก็ว่ากันไปตามกติกาที่รัฐกำหนด

ดังนั้น เมื่อจบการประมูล ก็จะได้จำนวนใบอนุญาติ(สัมปะทาน)ออกมาจำนวนหนึ่ง และ จำนวนโฉนด(แปลง)ที่ประมูลได้กันได้ออกมาจำนวนหนึ่ง ซึ่งจำนวนสัมปทานจะน้อยกว่าหรือเท่ากับจำนวนแปลงเสมอ (ถ้าเท่ากันก็คือ 1 สัมปทาน ครอบคลุม 1 แปลง)

เข้าใจเบสิกกันแล้ว ก็มาดูประวัติการเปิด และ ให้สัมปะทานกันหน่อย

ที่มา – http://www.dmf.go.th/index.php?act=petroleum&sec=history

เอ๊ะ … ทำไมจำนวนสัมปะทานและจำนวนแปลงตอนที่ออกให้ผู้ชนะประมูล กับ จำนวนสัมปะทานและจำนวนแปลง ณ.ปัจจุบันมันไม่เท่ากัน

จำนวนสัมปะทานและจำนวนแปลง ณ.ปัจจุบันมันน้อยกว่า จำนวนสัมปะทานและจำนวนแปลง ตอนออกให้ผู้ชนะการประมูล จำนวนสัมปะทานและจำนวนแปลงมันหายไปไหน

หลายเหตุผลครับ แต่ทุกเหตุผลนำไปสู่การ คืนสัมปะทาน (relinquish)

เช่น หมดอายุสัมปทาน หรือ อาจจะสำรวจแล้วไม่เจออะไร หรือ สำรวจเจอ แต่ไม่คุ้ม เพราะเงื่อนไขสัมปะทานที่ได้มากับราคาน้ำมันณ.ตอนนั้น หรือ ไม่มีเงินทุนมาสำรวจ คือ ตอนประมูลคิดว่าตรงนี้ดีน่าสำรวจ แต่พอได้แปลงมาจริงๆ กลับการเป็นว่าแปลงอื่นที่อื่นประเทศอื่นโอกาสเจอดีกว่า โอกาสได้กำไรดีกว่า เงินลงทุนมีจำกัด งั้นไปลงทุนสำรวจที่อื่น ตรงนี้ก็ยอมเสียค่าปรับ(ถ้ามี) แล้วคืนสัมปะทานไปซะ บางทีบ.ที่ประมูลได้เจ๊งก็มี อันนี้ก็ไม่ว่ากัน เป็นธรรมชาติของธุรกิจครับ

มาดูอีกมุมบ้าง … แต่ล่ะรอบที่เปิดประมูลก็มีเงื่อนไขต่างๆมากมายแตกต่างกันไป แต่เมื่อดูในด้านสถิติแล้ว 20 ครั้งที่ผ่านมา เราออกสัมปะทานไป 110 สัมประทาน ตอนนี้เหลือ 63 สัมปะทาน แปลว่า คืนมา 47 สัมปะทาน คิดเป็น 47/110 เกือบ 43%

ทำนองเดียวกับจำนวนแปลง (157 – 79)/157 คือ คืนแปลงมาราวๆ 50% !!!

อืม … น่าคิดว่า ของ(แปลง – ศักยภาพ)ของเรามันไม่ดี ไม่เจอ หรือ เจอก็ไม่คุ้ม หรือ คุ้ม ก็สู้ที่อื่นไม่ได้ หรือ อื่นๆ ก็เลยคืนมา

เรื่องนี้ถ้าจะดูกันจริงจังก็ต้องวิเคราะห์ไปให้ลึกๆ แยกประเภทสาเหตุที่คืน แล้วก็แก้ปัญหาไป เช่น คืนเพราะไม่มีจริงๆ มีแล้วไม่คุ้ม สู้ที่อื่นไม่ได้ เพราะเงื่อนไขสัมปะทาน เพราะราคาน้ำมัน หรือ ไม่เกี่ยวอะไรกับเราเลย เช่น บ.แม่เปลี่ยนนโยบาย เพราะการเมืองระหว่างประเทศ การเมืองภายใน สัมปะทานหมดอายุไปเอง หรือ แม้แต่บ.ที่ประมูลได้เจ๊ง 555

เมื่อรัฐฯทำการบ้าน วิเคราะห์กันแล้วว่าเพราะอะไร ก็มาแก้ไขปรับปรุงกันไปตามเหตุตามผล อาจจะเอาแปลงที่คืนมา สุมหัวผู้เชี่ยวชาญเอาข้อมูลใต้ดิน(Subsurface)มาดูกันใหม่ ลบเส้นแปลง กำหนดหลักโฉนดกันใหม่ ให้ใหญ่ขึ้น เล็กลง หรือ เปลี่ยนรูปร่างไปเลย เพื่อให้แปลงนั้นมันน่าดู เอ๊ย น่าดึงดูดการลงทุน แล้วก็ปรับเงื่อนไขสัมปะทานใหม่ให้เหมาะสม ให้แข่งขันได้กับเพื่อนบ้านหรือแหล่งข้างเคียงในระนาบเดียวกัน แล้วก็รอเปิดประมูลรอบต่อไป

เอาล่ะครับ หวังว่าคงเข้าใจระบบการประมูล ที่มาที่ไปของการเปิดประมูล การคืนสัมปะทาน ประวัติการประมูลที่ผ่านมา พอสังเขปนะครับ อย่างที่ผมตั้งชื่อตอนเอาไว้ ก่อนเราจะก้าวไปข้างหน้า เราควรจะรู้และเข้าใจที่มา หลักการเหตุผล ประวัติ เกร็ดต่างๆ กันบ้าง ไม่อย่างนั้น เราอาจจะเดินไปข้างหน้า หรือ เข้าใจกันแบบหลงทาง

ถ้าคิดแง่มุมไหนได้อีก จะมาเล่าให้ฟังตอนต่อไปนะครับ ….

โปรดติดตาม …

 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *