ชาย หญิง vs วิศวกรรม … ละเอียด = ดี, หยาบ = ไม่ดี ???

ชาย หญิง vs วิศวกรรม … ละเอียด = ดี, หยาบ = ไม่ดี ??? … วันนี้ได้อ่านคอลัมภ์อะไรสักอย่างเกี่ยวกับความเป็นผู้หญิงๆที่ผู้ชายไม่ค่อยเข้าใจ เช่น เรื่องการใช้เวลาแต่งตัวนาน ไม่มีชุดหรือรองเท้าจะใส่(ทั้งๆที่มีเต็มตู้) ความช่างจดช่างจำ (และผิดหวัง + ดราม่า ถ้าแฟนจำอะไรที่เธออยากให้จำไม่ได้) ชอบคิดมาก (ในเรื่องที่ผู้ชายไม่เอามาคิดเอามาใส่ใจ) ฯลฯ อะไรทำนองนี้

ซึ่งก็ไม่ได้เป็นอะไรใหม่ หาอ่านได้เยอะแยะในคอลัมภ์พวก Life Style หรือ คอลัมภ์ที่มักขึ้นต้นว่า “7 อย่างที่ผู้ชาย …” หรือ “5 อย่างที่ผู้หญิง …”

ชาย หญิง vs วิศวกรรม

เผอิ้ญ เผอิญ ผมมาตะหงิดอยู่ข้อหนึ่งที่ผู้เขียนบทความบอกทำนองว่า ผู้หญิงเป็นเพศที่มีความละเอียดซับซ้อนทางการรับรู้และอารมณ์สูง ซึ่งผู้ชายควรพยายามทำความเข้าใจผู้หญิงในเรื่องนี้ เพราะผู้ชายมีความละเอียดซับซ้อนทางการรับรู้และอารมณ์ต่ำกว่า

อืม … เลยไพล่คิด และ ตีความไปว่า อ๋อ … คนที่ความละเอียดซับซ้อนทางการรับรู้และอารมณ์สูงต่ำกว่าควรต้องเข้าใจคนที่มีความละเอียดซับซ้อนทางการรับรู้และอารมณ์สูงซินะ

ดังนั้นความละเอียดซับซ้อนน่าจะเป็นคุณสมบัติที่ดี ความไม่ละเอียดซับซ้อนเป็นคุณสมบัติที่ไม่ดี

… ธรรมชาติสร้างผู้หญิงมาให้มีตัวตรวจวัด (sensor) ที่มีความละเอียดสูงในทุกๆการรับรู้ (ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ – ศัพท์พระท่านเรียกว่า “วิญญาณ”) เหมือนกล้องที่มีความละเอียดสูง เช่น 10 ล้านพิกเซล

ตรงกันข้ามกับผู้ชายเราที่ถูกสร้างมาให้มี sensor ที่มีความละเอียดต่ำ เหมือนกล้องที่มีความละเอียดแค่ 2 ล้านพิกเซล

ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น ก็ต้องเท้าความไปยาวมา สรุปง่ายๆก็คือเพื่อหน้าที่ (function) ที่แตกต่างกันในการดำรงสืบเผ่าพันธุ์มนุษยชาติ

แล้วความแตกต่างนี้ทำให้เกิดอะไรขึ้น …

เมื่อต้องถ่ายภาพๆเดียวกัน กล้อง 2 ล้านพิกเซล ไม่มีวันเข้าใจภาพอันสวยงามที่ถ่ายโดยกล้อง 10 ล้านพิกเซล และ ในทางกลับกัน กล้อง 10 ล้านพิกเซล ก็ไม่มีวันที่จะมโนได้ว่าภาพที่ถ่ายโดยกล้อง 2 ล้านพิกเซล หน้าตาภาพออกมามันเป็นอย่างไร

ดังนั้น ถ้ากล้องสองตัวนี้ต้องมาอยู่ด้วยกันโดยไม่ให้มีปัญหา …

ไม่ใช่ว่าต้องให้กล้อง 2 ล้านพิกเซลพยายามมโนว่าในเลนส์ของกล้อง 10 ล้านพิกเซล ภาพนั้นเป็นอย่างไร กล้อง 10 ล้านพิกเซล “ต้อง” ทำความเข้าใจ และ พยายามมโนให้ได้ว่า ในเลนส์ของกล้อง 2 ล้านพิกเซลนั้น ภาพที่ “น่าจะ” เป็น คือ ภาพอะไร

เมื่อ input จาก sensor ที่มีความละเอียดสูง ก็จะเป็นข้อมูล (data) ที่มีความละเอียดสูงตามไปด้วย เมื่อนำมารวมกับ ข้อมูลและประสบการณ์ในอดีต (memory + experience – ศัพท์พระท่านเรียกว่า “สัญญา”) ซึ่งละเอียดพอกัน ที่สั่งสมไว้ในหน่วยความจำ (memory storage device)

เมื่อจับรวมสองส่วนนี้เข้าด้วยกัน (input + memory + experience หรือ วิญญาน + สัญญา) … โอ้ แม่เจ้าาาาา ผลลัพท์ (out put) ก็คือความรู้สึก (feeling ที่ศัพท์พระท่านเรียกว่า “เวทนา”) ประมาณล้านแปด 555 คราวนี้หน่วยประมาลผล(CPU ศัพท์พระท่านเรียกว่า “สังขาร”) ทำการประมวลผลออกมาเป็น action หรือ กริยา เช่น ออกมาว่า เฮ้ย ชอบว่ะ เอ๊ะ ไม่ชอบว่ะ ไม่เอาว่ะ อยากหนีไปไกลๆ อยากเขยิบไปอยู่ใกล้ๆ อยากโน้น อย่างนี่ ไม่เอาโน้น ไม่อยากนี่ ฯลฯ

นี่แหละคือสาเหตุที่ทำไมผู้หญิงมีอารมณ์ความรู้สึกที่ซับซ้อนวกวน ก็เพราะต้นทางคือ sensor เธอความละเอียดสูง ถึงใช้ CPU ตัวเดียวกัน ผลออกมาก็ยุ่งขิงทิงนองนอยกันไป

ตรงข้ามกับผู้ชายเรา sensor ก็หยาบๆ หน่วยความจำก็เฮงซวย เผลอๆ CPU สมรรถนะ ต่ำ ผลทางอารมณ์ความรู้สึกถึงเป็นอะไรที่ ง่ายๆ ใช่-ไม่ใช่ ขาว-ดำ เอา-ไม่เอา 1.0 – 2.0 – 3.0 – 4.0 – 5.0 ไม่มี 1.27856 หรือ 2.58697 หรือ เอ๊ะ เอาดี ไม่เอาดี ใช่ดี ไม่ใช่ดี ตัดสินใจไม่ถูก 555

แล้ว sensor ละเอียด CPU Main Board แรงๆ เนี้ย มันดีเสมอไปเหรอ

เพื่อนๆพี่น้องที่จบมาทางอิเลคทรอนิกส์ ไม่ว่า วิศวกรรมควบคุม เครื่องมือวัด โทรคมนาคม ฯลฯ จะรู้ดีว่า sensor ที่ละเอียดมากๆ ถ้าจะให้ทำงานให้ได้เที่ยงตรงนั้น ยากเย็นแสนเข็ญ เพราะโดยมากจะไปจับเอาสัญญาณรบกวนที่ไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องที่จะทำ จะคิด จะประมวลผล หรือ สัญญานที่ไม่ได้ต้องการ (เรียกรวมๆว่า noise) เข้ามาด้วย

ปวดขมับล่ะทีนี้ …

นี่คือข้อดีอย่างหนึ่งล่ะของ sensor หยาบๆของผู้ชายเรา

ถ้าต้องตัดสินใจทำอะไร มักจะฟันธงลงไปได้ง่ายกว่า sensor มันหยาบ มันเลยไม่ไปจับ (detect) สัญญาณเวิ่นเว้อร์ที่ (noise) ไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องที่ต้องตัดสินใจ

นั่นก็ข้อดีเรื่องการตัดสินใจ …

เมื่อข้อมูลหยาบๆจาก sensor หยาบๆ ก็มักจะไม่มีข้อมูลมาก ภาระ (load) ของ CPU ในการประมวลผลก็จะน้อย CPU ไม่ต้องทำงานหนัก ไม่เกิดความร้อน (heat ศัพท์พระท่านเรียก “ทุกข์”) มาก แถมกินไฟน้อยด้วย เพราะ CPU ทำงานน้อย 555

แน่นอนว่า กล้อง 10 ล้านพิกเซล ไม่สามารถปรับกายภาพ (hardware) ให้เป็นกล้อง 2 ล้านพิกเซลได้ กล้อง 2 ล้านพิกเซล ก็ปรับตัวเองไปเป็นกล้อง 10 ล้านพิกเซลไม่ได้ เพราะโดน hard wired (DNA นั่นแหละ) มาแบบนั้น

ต่อให้มีการเรียนรู้ในภายหลัง หรือ เปรียบว่าคือ software ลด หรือ เพิ่ม ความละเอียดของกล้อง แต่ก็เป็นเพียง “มโน” หรือ “ความเข้าใจเสมือน” ประหนึ่งการใช้ photo shop เพิ่มหรือลดความคมชัดของภาพ แต่ความละเอียดดังเดิมที่ได้จากตัวกล้องนั้นยังเท่าเดิม

งานบางงาน ภาพบางภาพ ถ่ายด้วยกล้อง 2 ล้านพิกเซลสวยจะตายไป เพราะจะได้ไม่เก็บรายละเอียดที่ไร้สาระ ริ้วรอยที่ไม่อยากดู ไม่อยากมอง ไม่อยากเก็บไว้บนภาพถ่าย แต่ภาพบางภาพก็งดงามเสียจนต้องเก็บไว้ทุกอนูของรายล่ะเอียด ก็ต้องให้เป็นหน้าที่ของกล้อง 10 ล้านพิกเซล

ดังนั้น ไม่ว่าจะกล้อง 10 ล้าน หรือ 2 ล้านพิกเซล กรุณารู้หน้าที่และข้อจำกัดของกล้องตัวเอง อย่าทำหน้าที่ ผิดงาน ผิดเวลา ผิดสถานที่ ผิดสถานการณ์

ก่อนจะจบการชวนเม้าส์มอยตอนนี้อยากจะตบท้ายนิดนึงว่า แล้วเราจะลดภาระ(load) ลดความร้อน(heat) หรือ ลดความทุกข์ จากการประมวลผล (สังขาร) ได้อย่างไร

sensor

สิ่งที่มากระทบ sensor นั้นเป็น ปัจจัยภายนอก (External factor) เราไปกำจัดมันไม่ได้ มันก็อยู่ของมันก็มีของมันตั้งแต่ big bang

sensor นั่นก็ไปปิดสวิทซ์มันก็ไม่ได้ ไม่งั้นจะกินจะอยู่จะทำงานจะสืบพันธุ์กันยังไง

hard disk หรือ หน่วยความจำ รอยยักในสมอง มันก็มีของมัน เอากระดาษทรายไปขัดรอยยักในสมองให้มันเรียบ ให้มันลืมข้อมูลเก่าๆ ให้มันลืมประสบการณ์เก่าๆ ก็คงทำไม่ได้

ที่พอจะทำได้ก็คือ หยุดขบวนการโหลด CPU ตรงที่ “รู้สึก” (feeling – เวทนา) นี่แหละครับ

เช่น มีนกบินผ่านมา ก็เห็นได้ว่าหน้าตาแบบนี้ ความทรงจำประสบการณ์บอกได้ว่า เออ ไอ้ตัวแบบนี้ เคลื่อนไหวแบบนี้ มันคือ นก แล้วก็รู้สึกได้ว่า เออ มันสวยดี เออ มันน่าเกลียด (กรณีเป็นนกอีแร้ง 555) เออๆๆๆๆ แล้วก็หยุดอยู่แค่นั้น CPU ก็ไม่ต้องทำงานอะไร

ไม่ต้องไปคิดต่อไปว่า งั้นอยากได้ เดี๋ยววิ่งไปจับมาใส่กรง ไม่ต้องคิดต่อไปว่า น่าขยักแขยง เอาปืนมายิงทิ้งซะ เกะกะลูกกะตา คนกดไลค์เพิ่ม คนติดตาม FB เพิ่ม ก็เออ มันเพิ่ม ไม่ต้องไปคิดอยากให้มันเพิ่มอีกเพิ่มอีกๆๆๆๆๆ

สวยก็รู้ว่าสวย น่าเกลียดก็รู้ว่าน่าเกลียด หอมก็รู้ว่าหอมนะ เหม็นนะ ก็เออ เหม็น ไม่ต้องอยากไปเข้าใกล้ ไม่ต้องอยากวิ่งหนี เพราะไอ้ที่สวยเดี๋ยวมันก็ไม่สวย ไอ้ที่เหม็น เดี๋ยวมันก็ไม่เหม็น

ไม่ได้จะบอกว่าให้เป็นคนไร้ความรู้สึกซิแล้วจะไม่ทุกข์ แค่จะบอกว่า รู้สึกได้ หอมได้ เหม็นได้ มีเซ็กซ์ก็เสียวได้ ไรได้ แต่ให้รู้ต่อไปอีกว่า ไอ้ที่เสียว ไอ้ที่หอม เดี๋ยวก็ไม่เสียว เดี๋ยวก็ไม่หอม ตอนที่หายเสียวหายหอมจะได้ไม่ดิ้นรนไม่ทุกข์ไม่ต้องแสวงหามาให้เสียวให้หอมอีก เพราะถ้ามันจะเสียวจะหอมอีก เดี๋ยวมันก็เสียวมันก็หอมของมันเอง

อ้าว … เฮ้ย … มาจบที่เสียว มาจบที่หอม … ขึ้นต้นเป็นลำไม้ไผ่ พอเหลาลงไปกลายเป็นบ้องกัญชา (ได้ไง) … 555 🙂

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *