Forum

Please or Register to create posts and topics.

E&P Labor Market Mechanism

กลไกตลาดแรงงานในอุตสาหกรรม E&P (สำรวจและผลิตปิโตรเลียมต้นน้ำ)

บทความของ อ.จิรวัฒน์ เรื่อง "บุคลากรปิโตรเลียมไทยขาดแคลน โจทย์ใหญ่ยุคเปลี่ยนผ่านพลังงาน" ปลุกผมขึ้นมาจากบรรจถรณฺ์อีกครั้ง เพื่อแบ่งปันประสบการณ์ที่ไม่รับรองความถูกต้อง แค่เห็นมา สังเกตุมา เดาเอา แล้วก็เล่าให้ฟัง ไม่ได้ทำสำรวจอะไรเป็นเรื่องเป็นราว ก็อย่าเอาไปอ้างอิงก็แล้วกัน

วันจักรีปีนี้ก็จะครบ 36 ปี ที่อุตสาหกรรมนี้เป็นหม้อข้าวให้ผมและครอบครัว ผมเข้ามาในอุตสาหกรรมนี้ในตอนปลายยุคอนาล็อก ผมยังทันได้ใช้เครื่องมือพวกนั้นเมื่อ 2- 3 ปีแรกของการทำงาน ก่อนที่จะเปลี่ยนมาเป็นดิจิตอล

นั้นคือบริบทเทคโนโลยี ในบริบทของเศรษรฐกิจ ... 36 ปี พาผมผ่านวงจรรุ่งเรือง และ รุ่งริ่ง ของอุตสาหกรรมนี้ เอาใหญ่ๆ ก็ 3 ครั้ง ถ้านับย่อยๆก็อาจจะถึง 6 ครั้ง ... เรียกว่าจะโดนอีกสักครั้งก่อนเกษียณ ก็เฉยๆ ชิวๆ (ฮ่า)

ก็อยากจะสรุปบทเรียน ข้อคิดในบริบทของกลไลตลากแรงงาน ฝากไว้ให้พวกเราที่ยังเวียนว่ายหากินอยู่กับอุตสาหกรรมนี้ ถูกผิดก็อย่าเชื่อ คิดเองด้วย ...

1. เรื่องนี้พูดไปแล้ว 2 - 3 วันก่อน แต่ยกมาแปะไว้ข้อแรก เพราะเป็นปฐมบท ... พลังงานฟอสซิลยังมีให้เราสำรวจและผลิตอีกนานครับ ถ้าเราจะไม่ใช้มันในเร็ววันนี้ ไม่ได้เพราะว่ามันหมด แต่เป็นเพราะมีแหล่งพลังงานที่เสถียรและราคาที่ถูกกว่าเท่านั้นแหละ ตอนนี้พลังงานทางเลือกอื่นที่เรามี ถ้าเสถียรก็ราคาไม่ถูก ที่ราคาถูกก็ไม่เสถียร

2. ไม่มีพลังต่อรองอะไรใหญ่ไปกว่า พลังกลไกตลาด อุปสงค์ อุปทาน ไม่ว่าองค์กร บ.นายจ้าง จะเริ่ดหรู เข้มนโยบายอะไรอย่างไรก็ตาม ไม่ว่าพนักงานลูกจ้างมืออาชีพจะเก่งกาจวิเศษวิโสอย่างไร ไม่ว่ารัฐบาลจะทำอย่างไร พลังกลไกตลาดชนะเสมอ เพราะอุตสาหกรรมเราเป็นอุตสาหกรรมสากล แรงงานไหลเข้าออกไปมาได้ตามผลตอบแทนของตลาด

เช่น บ.หนึ่ง มีนโยบายกร้าวมากว่า จะไม่รับวิศวกรสนามที่ลาออกไปแล้วกลับเข้ามาทุกกรณี ... พออุตสาหกรรมขาขึ้น ตบเท้าพาเรดกลับมาเป็นแถว แม้แต่คนที่ถูกให้ออกช่วงอุตสาหกรรมขาลง หรือ วิศวกรที่เก่งมีคุณค่าก็อยู่ไม่ได้ เมื่ออุตสาหกรรมขาลงขาลง

3. คนรุ่นเก่าในวงการมักจะเริ่มบทสนทนาด้วยความภูมิใจว่า "สมัยก่อนนะ ..."

ต้องเข้าใจอย่างหนึ่งว่า ทุกวิชาชีพอยู่ในกลไกตลาด ตลาดอาชีพไหนให้ผลตอบแทนสูง คนก็จะไปเลือกเรียนสาขานั้น เมื่อมีการเลือก เมื่อมีที่นั่งเรียนจำกัด ก็ต้องมีการแข่ง เมื่อมีการแข่ง ก็ต้องมีคนที่ผ่าน และ ไม่ผ่าน คนผ่านก็ได้เข้าไปทำงานในอุตสาหกรรมที่ผลตอบแทนแรงงานดี คนไม่ผ่านก็ต้องไปทำงานในอุตสาหกรรมที่ผลตอบแทนถัดๆลงมา

จะชอบหรือไม่ก็ตาม ความจริงที่โหดร้ายของกลไกตลาดแรงงานมันเป็นแบบนั้น

ย้อนไป 40 ปี ก่อน อุตสาหกรรมเราไม่ได้เป็นที่ต้องตาต้องใจนัก ผมเรียนจบ ม.6 ยังไม่รู้เลยว่า อุตสาหกรรมนี้ทำอะไรกัน ผลตอบแทนแรงงานไม่ต้องพูดถึงต่ำเตี้ย

แรงงานสมองที่มาอยู่ในอุตสาหกรรมนี้เมื่อ 30 - 40 ปีก่อน จึงเป็นแรงงานสมองที่ ถ้าไม่ 1. รู้จริง ชอบจริง เห็นอนาคตจริง ก็ 2. ไม่ผ่านการคัดเลือกเข้าไปในอุตสาหกรรมที่ผลตอบแทนแรงงานสมองสูงๆ

ผมอยู่ในประเภทกลางๆที่เห็นแก่เงินล้วนๆ ตอนเรียนจบ อุตสาหกรรมอยู่ในช่วงขาขึ้นหลังจากซบไป 4 - 5 ปี ในช่วงผมเรียน ป.ตรี ... เรียกว่ามากับโชคกับดวงล้วนๆ

กลไกตลาดมันก็ทำงานของมันอย่างที่ อ.จิรวัฒน์ว่าไว้ในบทความ ปิโตรเลียมยังมีเยอะ ไม่ต้องฉลาดมาก เก่งมาก จิ้มลงไปตรงไหนก็เจอ คนรุ่นเก่าจึงชอบขี้โม้ว่า "สมัยก่อนนะ ..." (ฮา)

แล้วคนรุ่นนั้นก็กลายมาเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ในอุตสาหกรรมฯเราในวันนี้ (ฮา - กว่า)

แต่คนรุ่นเก่าก็มีราคาที่ต้องจ่าย ...

อย่างแรกก็ คือ รายได้น้อยกว่าเพื่อนร่วมรุ่นแน่นอน เพราะอยู่ในอุตสาหกรรมที่ผลตอบแทนต่ำ อย่างที่สอง เทคโนโลยีต่างๆไม่ดีเหมือนวันนี้ ถึงจะมีปิโตรเลียมมากมาย ในมุมมองของเราที่เกิดมาก็มีเตาไมโครเวฟ มีเอ๊กเซล มีเครื่องพิมพ์สี ฯลฯ เราอาจจะบอกว่าง่าย แต่ด้วยเครื่องคิดเลข สไลด์รูล (ไปกูเกิ้ลเอาว่าหน้าตาเป็นอย่างไร) กับ ปากการ๊อดติ้ง ... การหา และ เอาน้ำมันขึ้นมามันก็มีความยากประมาณหนึ่งล่ะ

4. คนรุ่นนี้ในวงการมักจะเริ่มบทสนทนา(บ่น)ว่า "สมัยนี้หาน้ำมันยากขึ้นทุกวัน คนรุ่นเก่าจิ้มๆดูดๆไปจนหมดแล้ว ..."

มันก็จริง ... แต่ในทางกลับกัน เรารุ่นใหม่ก็มีเครื่องมือและเทคโนโลยีที่ดีกว่า เพื่อรับมือกับความยากกว่าในการหาของที่เหลือน้อย มันก็ยุติธรรมดีนะ ผมว่างั้น

ปิโตรเลียมเป็นสินค้าการเมืองล้วนๆ ... ดังนั้น กลไกตลาดแรงงานของพวกเราจึงผันผวนไปตามการเมืองโลก ไม่ใช่ความผิดของใคร ของ บ. หรือ ของเรา ในยามที่ต้องเอาตัวรอด ไม่ใช่บุญคุณของใคร ในยามเฟื่องฟู เป็นเรื่องของอุปสงค์อุปทานล้วนๆ แค่ว่า บ.ไหน หรือ ใคร จะยืนระยะด้วยทุนที่หนากว่าได้ยาวนานกว่าเท่านั้น ในที่สุด เมื่อสุดสายป่าน ก็ต้องโบกมืออำลากัน

5. ปัจจุบันอุตสาหกรรมเรา ไม่ได้น่าสนใจหรือมีเสน่ห์น้อยลงเลย ในสายตาผมนะ แต่มีอุตสาหกรรมใหม่ๆ ที่ให้ผลตอบแทนมากกว่า ดึงแรงงาน (โดยเฉพาะมันสมองรุ่นใหม่ๆ) ไปจากเรามากกว่า

การดึงแรงงาน เท่ากับการแข่งขั้น การแข่งขันทำให้มีผู้ชนะ มีผู้แพ้ ก็อย่างที่ อ.จิรวัฒน์ให้สัมภาษณ์แหละ คุณภาพนศ.ที่มาเรียนคณะอ.ฯต่ำลง(หมายถึงคะแนน)ทุกปีๆ จนจะไม่ผ่านเกณฑ์ ทั้งๆที่เมื่อยุครุ่งเรือง 10 อันดับแรกของ วิศวะจุฬาเลือกเรียนคณะ อ.ฯ ... กลไกตลาดไม่เคยปราณีใครครับ

สำหรับผม มีปัจจัยหลักๆ 3 ปัจจัยที่กระทบกลไกตลาดแรงงานของอุตสาหกรรมเรา

1. คู่แข่งอุตสาหกรรมเกิดใหม่

2. วงจรเศรษฐกิจการเมืองระดับโลก

3. ทิศทางนโยบายสนับสนุนของรัฐบาล (ซึ่งก็ไม่เคยได้เรื่อง - ฮา)

ทำไมผมไม่พูดถึงพลังงานทางเลือกอื่น ย้อนกลับไปดูข้อ 1 ครับ อีกนานในสายตาผม แต่ 3 เรื่องข้างบนนี้ ใกล้ตัวกว่า

ผมไม่ใช่คนเก่งอะไรเรื่องพวกนี้ ก็ได้แต่สังเกตุแล้วเอามาเล่าต่อ ส่วน อุตสาหกรรมเราจะรับมืออย่างไร ทั้งในส่วนของ นายจ้าง บ. (ต่างๆ) และ ลูกจ้างอย่างเราๆ พูดตรงๆ ตอนนี้ยังคิดไม่ออก ถ้าคิดออกแล้วจะมาเล่าให้ฟังก็แล้วกัน 🙂

พ่อน้องเฟิร์นและน้องภัทร

log in แล้ว comment กันได้เลยครับ ถ้ายังไม่ลงทะเบียนก็ลงทะเบียนกันน้าาา แป๊บเดียว ใช้แค่ชื่อเล่น กับ password จะได้เม้าส์มอยกันได้

The Sweet Girl

ของมือสองของเฟิร์นค่ะ มีหลายชิ้นเลย ราคาดีสุดๆ (คลิ๊กที่รูปนะคะ ลิงค์จะพาไปที่ร้านค่ะ)

Fern shop

--------- คลิ๊ก - The Sweet Girl ----------